นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ กล่าวว่า ทั้งที่ค่าเงินบาทไม่ควรผันผวนเกิน 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หากไม่ทำอะไรเลย ปล่อยค่าบาทแข็งค่าไปเรื่อยๆ ส่งออกข้าวไทยจะเจอผลผลเสียหลายด้าน ไม่มีทางที่ประเทศไทยจะชนะประมูลขายข้าวในต่างประเทศ ไล่กันตั้งแต่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย แถบแอฟริกา และตะวันออกกลาง
ในเมื่อค่าบาทผันผวนเร็วสูงถึงเดือนละ 5-6% จะเกิดการขาดทุน และส่งผลกระทบกับราคาข้าวในประเทศลดลง สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยพูดมานาน มีการร้องขอไปทุกฝ่าย แต่ไม่มีอะไรคืบหน้า ความเดือดร้อนเกิดขึ้นทั้งผู้ส่งออก และผู้ผลิตที่เกี่ยวข้องด้วย
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ กล่าวต่อไปว่า ทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่าหรืออ่อนค่านั้น มีผลต่อราคาส่งออกข้าวไทย 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อเดือนสิงหาคม ค่าเงินบาทเฉลี่ย 35-36 บาท แต่มาวันนี้แตะ 33 บาท ก็มีผลต่อราคาข้าวไทยแล้ว 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ยิ่งเมื่อไปเทียบกับประเทศผู้ส่งออกข้าวโลก เป็นที่ชัดเจนว่าข้าวจากไทยสู้ราคายากมากขึ้นเรื่อยๆ ดูได้จากการเปิดประมูลข้าวของประเทศอินโดนีเซียจำนวน 350,000 ตัน ผลปรากฎว่า เวียดนาม เมียนมา และปากีสถาน ชนะประมูลรวมกว่า 200,000 ตัน วันนี้ ราคาส่งออกข้าวแบบไม่คิดค่าประกัน หรือ FOB พบว่า ปากีสถานตั้งราคาขายไม่เกิน 510 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในขณะที่ ข้าวไทยต้องเสนอขาย 560 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
นายชูเกียรติ กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายส่งออกปี 2568 นั้น ต้องยอมรับว่ามีความน่ากังวล เริ่มจากปัจจัยในไทย เช่น ค่าเงินบาทที่อาจแข็งค่าต่อเนื่อง กดราคาข้าวไทยแข่งขันไม่ได้ จะส่งผลให้มีปริมาณข้าวเหลือในประเทศถึงขั้นล้นตลาด ไปกดราคาข้าวร่วงต่อ การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ สภาพกิจการเอกชนที่อาจเลิกมีอีกมาก ด้านต่างประเทศ พบว่า จากฃ้อมูลนั้น ปัญหาโลกร้อนอาจเบาลง ผลผลิตข้าวทั่วโลกมากขึ้น เกิดการนำเข้าข้าวลดน้อยลง รัฐบาลอินโดนีเซียปีนี้จะนำเข้าข้าวในปี 2568 เหลือ 1.5 ล้านตัน ขณะที่ปี 2567 นี้ อินโดนีเซียนำเข้ามากถึง 4 ล้านตัน สาเหตุจากอินโดนีเซียกลับมาปลูกข้าวในประเทศได้ตามปกติ