เงินบาทแข็งค่ามาก สัปดาห์นี้มีโอกาสแตะ 32.80-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ   

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าแม้จะมีปัจจัยลบกดดันให้อ่อนค่าตามจังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก แต่ เงินบาท ก็ยังคงเคลื่อนไหวเป็นกรอบ โดยมีแรงหนุนให้ทยอยแข็งค่าขึ้นเป็นระยะๆ ในช่วงก่อนการประชุมเฟด ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวได้เพียงช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ตามการปรับโพสิชั่นหลังการประชุม FOMC 17-18 ก.ย. ซึ่งเฟดมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% มาที่กรอบ 4.75-5.00% โดยเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าและทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบกว่า 19 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.03 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ (Onshore Market) ขณะที่แรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงท่ามกลางมุมมองที่ประเมินว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุม 17-18 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ Cycle การลดดอกเบี้ย และแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้ายังเป็นขาลง 

นอกจากนี้ การแข็งค่ากลับมาของเงินบาทยังสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน  

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ก.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 ก.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 16-20 ก.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องที่ 5,865 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 9,976 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 13,226 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 3,250 ล้านบาท)

โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 19 เดือนครึ่งที่ 32.91 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วง NY Session ในวันศุกร์ 20 ก.ย. และยังคงเคลื่อนไหวในฝั่งแข็งค่ากว่าแนว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันจันทร์ 23 ก.ย.  

สำหรับสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 23-27 ก.ย. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.80-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ตัวเลฃการส่งออกเดือน ส.ค.ของไทย สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก และสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสำหรับเดือน ก.ย. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE และ Core PCE เดือน ส.ค. ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 (final) และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ 

นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และดัชนี PMI (เบื้องต้น) สำหรับเดือน ก.ย. ของยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles