เงินลงทุนจีนในไทยล้มแชมป์ญี่ปุ่นครั้งแรกในรอบ 28 ปี อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นในไทย

1247
0
Share:
เงิน ลงทุน จีน ใน ไทย ล้มแชมป์ญี่ปุ่นครั้งแรกในรอบ 28 ปี อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ญี่ปุ่นในไทย

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือเจโทร (JETRO) เปิดเผยว่า ในปี 2022 ที่ผ่านไป ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่กลายเป็นประเทศที่ลงทุนทางตรง หรือ FDI ในประเทศไทยมากที่สุด โดยมูลค่าการลงทุนของจีนแผ่นดินใหญ่แซง มูลค่าการลงทุนจากญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปี ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ครองแชมป์อันดับ 1 การลงทุนในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 1994 เป็นต้นมา

การลงทุนของประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทยจากอดีตถึงปี 2022 ผ่านไป จะเห็นได้อย่างชัดเจนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น โตโยต้า ฮอนด้า มิตซูบิชิ นิสสัน อีซูสุ เป็นต้น เจโทร เปิดเผยว่า โตโยต้าและบริษัทในเครือจ้างงานในประเทศไทยมากถึง 275,000 ตำแหน่ง ในแง่รายได้คาดการณ์ว่า โตโยต้าสร้างรายได้เป็นสัดส่วน 4% ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีของไทย สิ่งสำคัญ โตโยต้าได้นำเงินมาลงทุนในประเทศไทยคิดเป็น 32% ของเงินลงทุนทางตรง หรือ FDI ของไทยในช่วงต้นปี 2022 ด้วย

ในยุคทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้รับฉายาว่า ดีทรอยต์แห่งเอเชีย สาเหตุจากบริษัทผลิตรถยนต์แบรนด์ต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ รวมถึงผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบัน ความเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย ถูกท้าทายจากอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าจากจีนแผ่นดินใหญ่จะเข้ามาแทนที่ญี่ปุ่นในประเทศไทย

บีวายดี บริษัทผลิตรถไฟฟ้า 100% หรือรถบีอีวีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาลงทุนทางตรงกับธุรกิจรถไฟฟ้าในไทยอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2022 บีวายดีลงทุนซื้อที่ดิน 700 ไร่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอของเอกชนไทยที่จังหวัดระยองเพื่อเตรียมผลิตรถไฟฟ้าในปี 2024 ด้วยกำลังผลิตปีละ 150,000 คัน

อย่างไรก็ตาม ยอดขายรถไฟฟ้าในตลาดประเทศไทยปัจจุบันมีสัดส่วนไม่ถึง 1% จากยอดขายรถยนต์ใหม่ในไทย แต่ในแง่ส่วนแบ่งตลาดยานยนต์ในไทยกลับพบว่า แบรนด์ยานยนต์สัญชาติจีนแผ่นดินใหญ่กลับครองตลาดรถไฟฟ้าอย่างชัดเจน

ค่ายรถไฟฟ้าจีนอย่าง เกรท วอลล์ มอเตอร์ หรือ GWM มีการครองส่วนแบ่งตลาดรถไฟฟ้าสูงถึง 45% ในไตรมาส 1-3 ปี 2022 ตามมาด้วยบริษัท SAIC Motor ที่มีส่วนแบ่ง 24% ด้วยการทำตลาดรถยนต์ยี่ห้อ MG ในประเทศไทย

ปัจจัยบวกของประเทศไทยที่กลายเป็นประเทศได้รับความสนใจจากทั้งค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน เนื่องจากประเทศไทยมีระบบซัพพลายเชนที่เข้าถึงง่ายโดยเฉพาะบริษัทใหม่ที่จะเข้ามาทำธุรกิจรถยนต์ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลไทยที่ประกาศสนับสนุนตลาดรถไฟฟ้าอย่างชัดเจน นอกจากนี้ รัฐบาลไทยประกาศแผนการเพิ่มการผลิตรถไฟฟ้าให้ถึง 30% ของปริมาณรถยนต์ที่ผลิตทั้งหมดภายในปี 2030

บริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายอื่นอย่าง Sony และ Honda ก็ยังคงมีแผนการขยายการผลิตในไทย โดย Sony มีแผนขยายการผลิต 70% ในโรงงานในกรุงเทพฯ และจะเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 3 เท่าภายในปี 2024 ขณะที่ Honda มีแผนผลิตรถยนต์ SUV ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้และจะค่อยๆ เพิ่มการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นหากความต้องการสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของตลาดไฟฟ้าในประเทศไทย จะพบว่า รถไฟฟ้าจากโลกตะวันตก และญี่ปุ่น ได้แก่ โตโยต้า บีเอ็มดับเบิลยู วอลโว่ และเทสลา ล้วนมีราคามากกว่า 1 ล้านบาทต่อคันขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นรถไฟฟ้าราคาค่อนข้างสูง สถานีชาร์ตแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่มีไม่มาก และยังตั้งอยู่ห่างไกล ในแง่ขนาดตลาดซึ่งสะท้อนจากจำนวนประชากรทั้งประเทศไทยที่มีจำนวน 66 ล้านคน ซึ่งน้อยกว่าตลาดคู่แข่งสำคัญได้แก่ เวียดนามที่มีประชากร 97 ล้านคน และอินโดนีเซียมีประชาชนมากที่สุดในอาเซียนถึง 273 ล้านคน

นักวิเคราะห์บางราย ประเมินว่า ที่สำคัญ ประชากรไทยเป็นกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนมากในอาเซียน โดยเป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์ ดังนั้น หากปราศจากซัพพลายด้านแรงงานใหม่ๆ และขนาดตลาดในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น จุดยืนด้านตลาดของประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียนอาจเป็นอันตราย