เซลส์ฟอร์ซ  แนะองค์กรในประเทศไทยเร่งปรับตัว ลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะใหม่ ทันยุคของ Agentic AI

อัคคาชา สุลต่าน รองประธานบริษัทของ เซลส์ฟอร์ซ ประจำประเทศไทย อินโดนีเซีย และปากีสถาน เปิดเผยว่า การก้าวขึ้นมามีบทบาทของระบบ AI เอเจนต์อัจฉริยะ (Agentic AI) ซึ่งทำงานได้ด้วยตัวเองแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีการควบคุมจากมนุษย์นั้นไม่เพียงเป็นอีกหนึ่งก้าวของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระดับโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจของประเทศไทยในระดับพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนแปลงนี้เปิดประตูสู่โอกาสใหม่ในการยกระดับประสิทธิภาพและการสร้างนวัตกรรม โดยองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกต่างกำลังใช้ AI Agent เพื่อปลดล็อกศักยภาพของตลาดแรงงานดิจิทัลที่มีมูลค่าสูงถึง 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

จากผลการวิจัยของ Salesforce‎ ในปีที่ผ่านมา ซึ่งศึกษาทัศนคติของผู้บริหารระดับสูงในองค์กรขนาดใหญ่ของไทยเกี่ยวกับ Generative AI พบว่าผู้บริหารไทย 100% ได้แสดงความมั่นใจในการมอบหมายให้ AI ทำงานอย่างน้อยหนึ่งงานได้โดยไม่ต้องคอยควบคุมกำกับ ความท้าทายในขณะนี้จึงไม่ใช่เรื่องของความเชื่อมั่นอีกต่อไป หากแต่เป็นการลงมือปฏิบัติจริง เพราะหากองค์กรไทยไม่เร่งปรับตัวและนำ Agentic AI มาใช้อย่างจริงจัง ก็อาจตกเป็นเป้าถูกแทนที่โดยคู่แข่งหรือสตาร์ทอัพที่ปรับตัวได้เร็วกว่า

ผู้นำองค์กรจำเป็นต้องตอบสนองแบบเชิงรุกต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างมีกลยุทธ์ ท่ามกลางยุคของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับ AI ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจขององค์กรไทยควรให้ความสำคัญกับ การส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่ (Reskilling) ในวงกว้าง และการสร้างระบบนิเวศ AI ที่มีความน่าเชื่อถือ (Trustworthy AI‎) 

การส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่ สำหรับยุค Agentic AI

แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ ของรัฐบาลไทยที่ตั้งเป้าให้ความรู้ด้านจริยธรรม AI แก่ประชาชน 600,000 คน และพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จำนวน 30,000 คน ภายในปี 2027 ถือเป็นทิศทางที่น่ายินดีและมีความสำคัญ อย่างไรก็ดี ความต้องการทักษะในการทำงานร่วมกับ AI Agent มีอยู่ในทุกบทบาทและทุกภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีพนักงานเพียง 15% เท่านั้นที่เชื่อว่าตนมีการศึกษาและทักษะที่เพียงพอในการใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่นั้นกลายเป็นวาระเร่งด่วนของผู้นำทุกองค์กรในประเทศไทย

รายงานผลสำรวจด้าน State of IT ฉบับล่าสุดของ Salesforce ซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้นำนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก พบว่า 87% ของนักพัฒนาชาวไทยมองว่า ความรู้ด้าน AI จะกลายเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในอนาคต อย่างไรก็ตาม เกือบครึ่งหนึ่งหรือ 48% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยทั้งหมดกลับระบุว่าทักษะที่ตนเองมีอยู่ในปัจจุบันนั้นยังไม่เพียงพอต่อการทำงานในยุคของ Agentic AI 

นอกจากการยกระดับทักษะเชิงเทคนิคแล้ว การพัฒนาทักษะเชิงมนุษย์สัมพันธ์และทักษะทางธุรกิจ เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่พร้อมเปิดรับการทดลองใช้ AI อย่างมีความเชื่อมั่นก็มีความสำคัญมาก พนักงานควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานร่วมกับ AI ซึ่งรวมถึงพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับ Agentic AI และการเขียนคำสั่งพรอมต์ (Prompt ‎Engineering) ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการสื่อสารกับ AI อย่างมีประสิทธิภาพ

ยกตัวอย่างเช่น หากเราพิจารณาถึงบทบาทของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่า AI Agent นั้นสามารถช่วยเขียนโค้ดที่ต้องทำซ้ำ ๆ เป็นประจำได้ นักพัฒนาจึงสามารถใช้เวลากับงานออกแบบระบบ และการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในภาพรวมได้มากขึ้น

ปัจจุบัน Salesforce ได้เปิดหลักสูตรใหม่บนแพลตฟอร์ม Trailhead เพื่อสนับสนุนองค์กรในการฝึกอบรมนักพัฒนาให้เรียนรู้ทักษะใหม่ ซึ่งได้รับผลตอบรับในช่วงแรกที่เปิดให้ใช้งานเป็นอย่างดี

การพิจารณาถึงทักษะที่จำเป็นถือเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น หากต้องการประสบความสำเร็จในยุค Agentic AI ผู้นำองค์กรไทยจำเป็นต้องกำหนดกลยุทธ์ระยะยาวที่ผสานการพัฒนาทักษะเหล่านี้ไว้ในแผนบริหารทรัพยากรบุคคล และมอบหมายให้ผู้จัดการแต่ละฝ่ายมีบทบาทในการสนับสนุนและให้คำปรึกษาแก่พนักงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บุคลากรสามารถปรับตัวและเติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

การนำ AI ที่มีความน่าเชื่อถือมาใช้ในทุกภาคส่วนขององค์กร

เมื่อความสามารถของ AI Agent พัฒนาขึ้น ความรับผิดชอบในการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน องค์กรต้องมั่นใจว่าระบบ AI มีความยุติธรรม และไม่ก่อให้เกิดอคติหรือการแบ่งแยกทางสังคม เพราะหากไม่มีการบริหารจัดการที่เหมาะสม คุณสมบัติที่ทำให้ AI มีความสามารถอันทรงพลังนั้นก็อาจกลายเป็นสิ่งที่ทำลายความเชื่อมั่นได้เช่นกัน

หากต้องการใช้ Agentic AI อย่างเต็มศักยภาพ องค์กรไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัย ตั้งแต่การเริ่มต้นพัฒนาไปจนถึงการนำไปใช้งานในระบบจริง ซึ่งหมายถึงการวางมาตรการด้านความปลอดภัยที่เข้มงวด ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามแนวทางด้านจริยธรรม AI เพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่มีความสำคัญและใช้งานข้อมูลเหล่านั้นอย่างมีความรับผิดชอบ

องค์กรไทยจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจว่าการใช้งาน AI และ Agent เป็นไปตามกฎระเบียบของประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา นอกจากการทำตามแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) แล้ว สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)‎ ยังได้นำร่างพระราชบัญญัติปัญญาประดิษฐ์เข้ารับการพิจารณาและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน โดยร่างกฎหมายดังกล่าวมีการเสนอกรอบกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Framework) พร้อมข้อยกเว้นบางประการในการใช้ข้อมูลออนไลน์ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก การเลือกใช้แพลตฟอร์มและเครื่องมือที่รองรับกับกฎระเบียบต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างความเชื่อมั่นและรักษาความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร 

Salesforce มุ่งมั่นในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยสำนักงานการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรมและคำนึงถึงมนุษยธรรม (Office of Ethical & Humane Use) นั้นเป็นผู้นำในการดำเนินงานและการใช้กลยุทธ์ที่ครอบคลุมรอบด้าน ซึ่งประกอบด้วยทีมที่พร้อมรับมือกับสถานการณ์ในระดับรุนแรง (Red Teaming) และการทดสอบการเผชิญหน้าในหลายรูปแบบ รวมถึงการทดสอบความน่าเชื่อถือ (Trust Testing‎)  ซึ่งเป็นกระบวนการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพิ่มเติมเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ Agentic AI ของ Salesforce สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานทั่วโลกที่มีความหลากหลายได้ดียิ่งขึ้น

องค์กรยังสามารถกำหนดขอบเขตการทำงานของ AI Agent โดยใช้หัวข้อและคำสั่งในรูปแบบภาษาธรรมชาติ เพื่อระบุสถานการณ์ที่ควรให้ AI ยกระดับในการตอบสนอง หรือส่งต่องานให้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นมนุษย์เข้ามาจัดการได้ นอกจากนี้องค์กรยังควรมีการจัดการเชิงรุกเพื่อขจัดความกังวลในเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและอคติที่อาจเกิดขึ้นในการทำงานของ AI ด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูลที่เข้มงวด และการสื่อสารที่มีความโปร่งใส

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญไม่แพ้กันคือ การใช้เครื่องมือที่ส่งเสริมการทำงานอย่างมีความโปร่งใสและสนับสนุนให้ผู้ใช้งานสามารถตัดสินใจในการมอบหมายงานให้ AI ทำได้อย่างรอบคอบ พนักงานควรมีความเข้าใจที่ชัดเจน ถึงขีดความสามารถและข้อจำกัดของ AI Agent ที่ตนเองกำลังทำงานร่วมด้วย และสามารถควบคุมการทำงานอัตโนมัติต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

หนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญของ Agentforce คือความสามารถในการดำเนินการแบบอัตโนมัติภายใต้ขอบเขตที่มนุษย์กำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งช่วยให้ AI Agent สามารถตัดสินใจและดำเนินการได้ด้วยตนเองภายในขอบเขตที่สอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายขององค์กร นอกจากนี้ Einstein Trust Layer ยังช่วยให้ Agentforce สามารถใช้งานโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ได้อย่างปลอดภัย โดยองค์กรมั่นใจได้ว่าข้อมูลในระบบของ Salesforce จะไม่ถูกเปิดเผยหรือจัดเก็บโดยผู้ให้บริการโมเดลภายนอก

พลังแห่งการเรียนรู้ทักษะใหม่ และการสร้างความเชื่อมั่น ที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมให้องค์กรในไทย

การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI นำมาซึ่งความท้าทายใหม่ ๆ ให้องค์กรในประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องการเตรียมความพร้อมให้พนักงานสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ข้อมูลที่มีคุณภาพ และทักษะที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม หากมีการลงทุนอย่างจริงจังในด้านการเรียนรู้ทักษะใหม่และโปรแกรมการฝึกอบรมที่ครอบคลุม องค์กรจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถให้พนักงานทำงานร่วมกับ AI Agent ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลง และในที่สุดสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมในยุคของแรงงานดิจิทัลได้

องค์กรไทยสามารถใช้การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาในมิติใหม่ โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ให้ความสำคัญกับความเชื่อมั่น ความปลอดภัย และความโปร่งใส จะมีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการเติบโต

ท้ายที่สุดแล้ว การลงทุนทั้งใน AI Agent และพนักงานที่เป็นมนุษย์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจ จะช่วยให้องค์กรในไทยสามารถขยายขีดความสามารถในการดำเนินงาน และปลดล็อกศักยภาพขององค์กรได้อย่างเต็มที่ในยุคของ Agentic AI

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles