องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เปิดเผยรายงานที่ชื่อว่า มุมมองประชากรโลก 2022 ของสหประชาชาติ หรือ U.N. World Population Prospects 2022 พบว่า ในช่วงระยะเวลาปี 1950 ถึง 2021 ประเทศไทยมีอัตราเด็กเกิดใหม่ติดลบอย่างรุนแรงมากถึง -79% ในช่วงระยะเวลา 70 ปีดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศไทยมีอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลงต่ำที่สุดเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย และยังทำสถิติลดลงต่ำมากที่สุดอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน
รายงานดังกล่าวได้จัดอันดับทั้งหมด 17 ประเทศที่มีอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลงต่ำที่สุดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีดังนี้
- เกาหลีใต้ -86%
- จีน -81%
- ไทย -79%
- ญี่ปุ่น -77%
- อิหร่าน -73%
- ซาอุดีอาระเบีย -67%
- มาเลเซีย -66%
- อินเดีย -63%
- บังคลาเทศ -62%
- เมียนมา -62%
- เวียดนาม -61%
- อินโดนีเซีย -60%
- เนปาล -57%
- ฟิลิปปินส์ -56%
- เยเมน -42%
- อิรัก -40%
และ 17. ปากีสถาน -37%
สำหรับในกลุ่มประเทศอาเซียนพบว่า
- ไทย -79%
- มาเลเซีย -66%
- เมียนมา -62%
- เวียดนาม -61%
- อินโดนีเซีย -60%
และ 6. ฟิลิปปินส์ -56%
อัตราส่วนเด็กเกิดใหม่ดังกล่าว เรียกว่า Crude Birth Rate เป็นการเทียบสัดส่วนจำนวนเด็กเกิดใหม่มีกี่คนต่อจำนวน 1,000 คนในรายปี
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2565 ในอีก 9 ปีถัดไปจะกลายเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper-Aged Society) ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วกว่าญี่ปุ่น โดย 80% ของประชากรสูงอายุ จะมีรายได้เฉลี่ยต่อปีระดับกลางลงล่าง แต่ค่าใช้จ่ายจะมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยมากกว่า 5% ต่อปี หรือไม่ต่ำกว่า 350,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งประเด็นปลายเปิดอยู่ที่ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลที่เชื่อมโยงกับความเจ็บป่วย