รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิชนักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด เปิดเผยบทความดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย ปี 2567 และประเมินทุเรียนไทยใน 5 ปีข้างหน้า มีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้
มูลค่าการส่งออกทุเรียนในปี 2567 ต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาการส่งออกเหมือนอย่างในปี 2566 ได้หรือไม่ สาเหตุจากในปี 2567 และในอีก 5 ปีข้างหน้า ทุเรียนไทยมีความเสี่ยงจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง เวียดนามส่งออกทุเรียนมากขึ้น และต้นทุนส่งทุเรียนไปจีนที่เพิ่มสูงขึ้น
ในช่วงปี 2556-2566 หรือ 10 ปีที่แล้ว พื้นที่ปลูกในไทยและผลผลิตทุเรียนเพิ่มสูงมาก ผลผลิตทุเรียนเพิ่มจาก 5 แสนตัน เป็น 1.4 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 180% สำหรับพื้นที่ปลูก พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานมีการขยายผลผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 1,500 % ทั้งๆที่พื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 80% เท่านั้น
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเหมือนกันนั้น ผลผลิตทุเรียนเวียดนามเพิ่มขึ้น 200% ในปี 2566 เวียดนามมีผลผลิตทุเรียน 800,000 ตัน เพิ่มจาก 270,000 ตันเมื่อเทียบจากปี 2557 ที่มีพื้นที่ปลูก 680,000 ไร่ พื้นที่ปลูกทุเรียนเวียดนามมีสัดส่วน 90% ซึ่งปลูกในจังหวัดสามเหลื่ยมปากแม่น้ำโขง จังหวัดที่ปลูกมากที่สุดคือจังหวัดดั๊กลัก (Dak Lak) คิดเป็น 21% ของผลผลิตทั้งหมด จังหวัดเตียนซาง (Tien Giang) และเลิมด่ง (Lam Dong) เป็นต้น
ปัจจัยภัยแล้ง หากไม่มีการแก้ไข หรือจัดการภัยแล้งอย่างเป็นรูปธรรม ประเมินว่าในปี 2567 จะทำให้ผลผลิตทุเรียนในไทยลดลง 42% หรือหดหายไปถึง 540,000 ตัน นอกจากนี้ คาดการณ์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ผลผลิตทุเรียนในไทยจะลดลง 53% ไม่ว่าจะเป็นทั้งสวนทุเรียนที่ให้ผลผลิตแล้ว และผลผลิตใหม่ก็ตาม โดยผลผลิตจะหายไป 640,000 ตัน
ปัจจัยด้านต้นทุนของทั้ง 2 ประเทศ พบว่าต้นทุนการผลิตทุเรียนไทยสูงกว่าประเทศเวียดนามถึง 2 เท่า ย้อนกลับไปในปี 2566 ต้นทุนการผลิตทุเรียนเวียดนามอยู่ที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม โดยเพิ่มขึ้นเพียง 4 บาท เป็น 19 บาทต่อกิโลกรัมในปี 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิตทุเรียนในเมืองไทยเพิ่มขึ้น 10 บาทต่อกิโลกรัม
การแข่งขันในอนาคตฃองธุรกิจล้งทุเรียนไทยนั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะปิดตัวเพิ่มขึ้น ในช่วงระหว่างปี 2565 ถึง 2567 มีล้งจีนทุเรียนเปิดเพิ่มขึ้น 665 ราย ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจล้งไทยทุเรียนกลับปิดตัวจาก 25 ราย เหลือ 10 ราย หรือลดลงมากถึง 60% ที่สำคัญ ในอนาคตคาดว่าล้งไทยทุเรียนจะปิดตัวเพิ่มขึ้น เหลือไม่เกิน 5 รายเท่านั้น
สำหรับไตรมาสที่ 1 ปีนี้ เวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีนเพิ่มขึ้น 105% อยู่ที่ 36,800 ตัน ขณะที่ไทยส่งออกในช่วงเวลาเดียวกัน 17,900 ตัน คาดการณ์ว่าปี 2567 เวียดนามสามารถส่งออกทุเรียนไปจีนถึง 500,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 30% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่ไทยคาดส่งออกอยู่ที่ 800,000 ตัน แต่เป็นปริมาณที่ลดลงเกือบ 200,000 ตัน
ทั้งนี้ ในปี 2567 นี้ คาดการณ์ว่าธุรกิจทุเรียนไทยจะมีเงินสะพัด 980,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ราว 140,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16.2% ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก ในปี 2566 ทุเรียนไทยมีมูลค่าส่งออก 140,000 ล้านบาท แซงหน้ามูลค่าการส่งออกยางพารา และมันสำปะหลัง แต่ยังเป็นรองมูลค่าการส่งออกข้าว มูลค่าการส่งออกทุเรียนคิดเป็นสัดส่วน 25% ของมูลการค่าส่งออกรวมของพืชส่งออกหลัก 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ทุเรียน ยางพารา และมันสำปะหลัง