รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้า และอุตสาหกรรมไทย นายธนิต โสรัตน์ เปิดเผยว่าภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยกับตลาดแรงงานในไทย มีมูลค่าประมาณ 6.545 ล้านล้านบาท คิดเป็น 35.21% ของจีดีพี การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปลายปี 2567 พบผู้มีงานทำในไทยมีประมาณ 40.3 ล้านคน มีอัตราการว่างงาน 0.8% จากค่าเฉลี่ยทั้งปี 1% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก และอาจไม่สะท้อนจากข้อเท็จจริง
ที่น่าสนใจ คือ จำนวนผู้ว่างงานราว 319,000 คน ปรากฏว่า เกือบครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 151,000 คนเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน และส่วนใหญ่ของผู้ว่างงานชาวไทยมากกว่า 67% จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ขณะที่ผู้ว่างงานแฝง ซึ่งหมายถึงคนที่ทำงานต่ำกว่า 34 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีอยู่ราว 200,000 คน
ดังนั้น ถึงแม้เศรษฐกิจไทยจะซึมยาว และขยายตัวในอัตราต่ำ แต่สภาวะนี้มีมาต่อเนื่องกว่าทศวรรษ ภาคเอกชนมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราต่ำ ธุรกิจ-อุตสาหกรรมที่ไปไม่รอด จึงทยอยปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก บางส่วนลดขนาดธุรกิจและมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคน
อัตราการว่างงานของไทยค่อนข้างต่ำ แต่ความต้องการแรงงานยังมีจากภาคส่งออก และท่องเที่ยวที่ผ่านมาขยายตัวได้ดี สะท้อนจากแรงงานในระบบประกันสังคมเดือนธันวาคมปี 2024 มีจำนวน 12.081 ล้านคน ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีอัตราการว่างงานที่ 1.81% มีจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 218,400 คน และจำนวนผู้ที่ถูกเลิกจ้างแรงงานในระบบต่ำสุดในรอบ 1 ปี
ทั้งนี้ การจ้างแรงงานที่ใช้ทักษะต่ำไม่พอกับความต้องการของตลาดในไทย โดยแรงงานต่างด้าวมีจำนวนมากถึง 3.35 ล้านคนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวเมียนมา