นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายและผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม พบว่า เปิดเทอมปีนี้ คาดจะมีมูลค่าการใช้จ่ายสูงถึง 62,615 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.80% จากปี 67 ที่มีมูลค่าใช้จ่าย 60,323 ล้านบาท หรือมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่ 26,039 บาท โดยกว่า 67% ระบุว่า มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายของบุตรหลายในช่วงเปิดเทอม ส่วนมูลค่าใช้จ่ายดังกล่าว ส่วนใหญ่ 45.6% บอกว่าเท่าเดิม และอีก 34.7% เพิ่มขึ้นถึงเพิ่มขึ้นมาก เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น ซื้อของมากขึ้น มีภาระหนี้น้อยลง มีจำนวนบุตรที่เข้าเรียนเพิ่มขึ้น ค่าบำรุงการศึกษาและค่าธรรมเนียมสูงขึ้น รายได้สูงขึ้น และ 19.7% บอกน้อยลง เพราะราคาของแพงขึ้นทำให้ต้องประหยัด ไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจ ขาดสภาพคล่อง มีภาระหนี้มาก รายได้ลดลง
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ 66.9% รายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และ 33.1% ไม่เพียงพอ ส่วนเงินที่นำมาใช้จ่าย มากถึง 61.9% เป็นเงินออม, 26.1% เงินเดือน และ 12.0% โบนัส/รายได้พิเศษ นอกจากนี้ 58.9% บอกว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานมีส่วนทำให้ต้องก่อหนี้ โดยคิดเป็นหนี้ 10-60% ของยอดหนี้ทั้งหมด มีเพียง 41.0% ไม่มีส่วนก่อหนี้
อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ยังส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา จึงต้องหารายได้เสริม ลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่น กู้ยืมเงินเพื่อให้บุตรหลานได้เรียนดีๆ ย้ายไปโรงเรียนที่ค่าเทอมถูกกว่า โดยเห็นว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ช่วยลดภาระของผู้ปกครองได้มาก โดยยอดการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปีการศึกษา 2568 ถือว่ามียอดใช้จ่ายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ที่เริ่มทำการสำรวจมาตั้งแต่ปี 53 ส่วนหนึ่งอาจตีความได้ว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาปรับตัวสูงขึ้น หรือผู้ปกครองให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาของบุตรหลานมากขึ้น