ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า โอกาสประเทศไทยต่อการพัฒนาตลาดแมลงกินได้ มีดังนี้
1.องค์ความรู้การเพาะเลี้ยง และตลาดในประเทศรองรับ ประเทศไทยมีองค์ความรู้พื้นบ้านในการจับ เลี้ยง และปรุงแมลงเพื่อบริโภคหลากหลายชนิด เช่น จิ้งหรีด ดักแด้ แมงดา โดยสามารถผลิตแมลงเศรษฐกิจได้มากกว่า 7,000 ตันต่อปี ปัจจุบันตลาดภายในประเทศให้การตอบรับที่ดีต่อแมลงกินได้ โดยมีการแปรรูป และจำหน่ายในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ทั้งในตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหาร ทำให้การเลี้ยงแมลงมีศักยภาพทางเศรษฐกิจและสามารถพัฒนาให้เป็นอาชีพที่ยั่งยืนในระดับครัวเรือนได้
2.ตัวเลือกที่ยั่งยืน ประหยัดทรัพยากร ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก ภาคปศุสัตว์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 7.1 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2eq) ต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 14.5% ของก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั้งหมด ทำให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเริ่มมีการหันเหไปบริโภคโปรตีนจากแมลงทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิมเพิ่มขึ้น
การผลิตโปรตีนจากแมลง 1 กิโลกรัม มีการปล่อย GHG เพียง 1 กิโลกรัม CO2eq น้อยกว่าการทำปศุสัตว์ดั้งเดิม 27 – 40 เท่า เมื่อเทียบกับปริมาณโปรตีนที่ได้รับจากปศุสัตว์ในจำนวนที่เท่ากัน อีกทั้งการทำฟาร์มแมลงกินได้สามารถเลี้ยงในพื้นที่จำกัดใช้น้ำ และปริมาณอาหารน้อยกว่าปศุสัตว์อื่น เช่น วัว หมู ไก่ 5-13 เท่า ทำให้หากเทียบเป็นปริมาณโปรตีนที่ได้รับเท่ากัน การทำฟาร์มแมลงจะเป็นทางเลือกที่ต้นทุนทรัพยากรต่ำที่สุด และมีความยั่งยืนกว่ามาก
3.อากาศร้อน และแนวโน้มอุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่งผล ให้การเพาะเลี้ยงแมลงยิ่งได้เปรียบในอนาคต แมลงอาจเป็นแหล่งโปรตีนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากสามารถเติบโตได้ดี ในสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ซึ่งขณะที่ปศุสัตว์ต้องเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลกระทบอย่างมากต่อปศุสัตว์ เช่น วัว หมู ไก่ โดยจะลดอัตราการเจริญเติบโต เพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อแบคทีเรียและปรสิต และลดการให้ผลผลิต เช่น เนื้อไก่ และนมวัว สูงถึง 38% ขณะที่ แมลงมีความสามารถ ในการปรับตัวต่ออุณหภูมิสูงได้ดีกว่า และอุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจช่วยให้แมลงบางชนิดเติบโตเร็วขึ้น ทำให้สามารถผลิตโปรตีนจากแมลงได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอาจส่งผลเสียต่อการเติบโต และความหลากหลายของสายพันธุ์แมลงบางชนิดได้เช่นกัน เช่น ผึ้ง ผีเสื้อ ซึ่งมีความสำคัญ ต่อระบบนิเวศในระยะยาว ดังนั้น การหลีกเลี่ยงต้นเหตุของผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเป็นสิ่งจำเป็น