นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Spring Meetings) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ในระหว่าง 21-24 เมษายน 2568 สรุปผลการประชุมฯ ดังนี้
ในการประชุม Roundtable IMF MD with ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors ในการประชุมโต๊ะกลมกับนาง Kristalina Georgieva กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าธนาคารกลางของแต่ละประเทศในอาเซียน หารือความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันและการรับมือกำแพงภาษี “ทรัมป์” นาง Kristalina แนะการรับมือกำแพงภาษี ให้กลุ่มอาเซียน ร่วมเชื่อมโยงตลาดทุนและการค้าในภูมิภาคให้มากขึ้น
การร่วมกันจัดระเบียบห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศของตนเองให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ที่ผันผวน ยอมรับประเทศขนาดเล็ก มีรายได้น้อยกำลังเผชิญการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการได้รับเงินช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้วลดลง จึงต้องระดมทรัพยากรในประเทศ สร้างรายได้ภาษีสูงกว่าร้อยละ 15 ของ GDP ให้ได้ เพื่อให้รัฐบาล มีนโยบายการคลังได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันเอเชียมีการค้าระหว่างกันเพียงร้อยละ 21 มองว่าการค้าในระดับภูมิภาคสามารถชดเชยการชะลอตัวของการค้าโลกได้ แนะไทย และอาเซียน พึ่งพาการค้าระหว่างกันมากขึ้นเพราะอาเซียนถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลกหากพิจารณาจาก GDP รวมกัน
การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก มองว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนสำคัญ จากความตึงเครียดทางการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจเติบโตระยะกลางอ่อนแอ IMF คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ชะลอตัวจากร้อยละ 3.3 ในปี 2567 เหลือร้อยละ 2.8 ในปี 2568 และฟื้นตัวเล็กน้อยเป็นร้อยละ 3.0 ในปี 2569 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงทั่วโลก โดยการลดลงของอัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วจะเร็วกว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนา
ที่ประชุม หารือการรับมือความผันผวนในตลาดการเงิน ต้องดำเนินนโยบายเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและลดความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจในประเทศและระหว่างประเทศ สร้างกันชนทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนในอนาคต ธนาคารกลางควรรักษาความมั่นคงด้านราคาและเสถียรภาพทางการเงิน “หากความเสี่ยงเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ควรชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย” การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ดึงแรงงานสตรีและผู้สูง มาร่วมปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ส่งเสริมนวัตกรรม และเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยี