หน่วยสนับสนุนนโยบาย สำนักวิจัยเอเปค(APEC) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจกลุ่มเอเปกในปี 2025 จะขยายตัวน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆของโลก สะท้อนจากมูลค่าขนาดเศรษฐกิจรวมกันของประเทศสมาชิกในกลุ่มเอเปคในปี 2025 จะขยายตัวที่ระดับ 3.1% ซึ่งชะลอตัวจากในปี 2024 นี้ที่คาดว่าจะขยายที่ระดับ 3.5% ที่สำคัญ เป็นการขยายตัวลดลงต่อจากในปี 2023 ผ่านมาที่เติบโตแตะ 3.6%
สำนักวิจัยดังกล่าว เปิดเผยต่อไปว่า เศรษฐกิจกลุ่มเอเปคที่ได้รับการคาดการณ์ว่าจะเติบโต หรือมีจีดีพีในปี 2025 ที่ระดับ 3.1% นั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะกลาง หรือระหว่างปี 2027-2029 อาจมีอัตราการขยายตัว หรือจีดีพีเพียง 2.7% ซึ่งทำให้เศรษฐกิจกลุ่มเอเปคเติบโตอ่อนแอลง และตามหลังเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ที่คาดว่าจะมีจีดีพีโตขึ้นแตะระดับ 3.2% และขยายตัวในช่วงระยะกลางหลังจากปี 2025 ที่ระดับ 3.1% ในช่วงระหว่างปี 2027-2029
สาเหตุจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาคของประเทศสมาชิกขนาดใหญ่ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน เช่น จีน ซึ่งตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซาและชะลอตัวต่อเนื่องในปี 2025 นอกจากนี้ ความขัดแย้งในการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาค มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจกลุ่มเอเปคด้วย ในขณะที่การกลับมาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 โดยการประกาศนโยบายการค้าและภาษีการค้า โดยเฉพาะการที่จะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่าง 20% ถึง 60% ทั้งจากประเทศนอกจีน และจากประเทศจีน อาจนำไปสู่ความตึงเครียดในการการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมถึงเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการปกป้องและการกีดกันการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น
นายคาร์ลอส คูริยามา ผู้อำนวยการ หน่วยสนับสนุนนโยบาย สำนักวิจัยเอเปค(APEC) เปิดเผยว่า ทั้งๆ ที่ การตอบโต้ด้วยคำพูดก่อให้เกิดความตึงเครียดด้านการเมืองระหว่างประเทศที่ได้ยินมาเป็นเวลาหลายปีผ่านมา แต่ความสัมพันธ์เศรษฐกิจระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนยังคงแข็งแกร่ง ยกตัวอย่างเมื่อ 2 ปีผ่านมา ท่ามกลางนโยบายกีดกัน และปกป้องการค้าของทั้ง 2 ประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก แต่การค้าของทั้ง 2 ประเทศกลับเพิ่มขึ้นถึงขั้นทำสถิติระดับสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม นโยบายเก็บภาษีการค้า และนโยบายกีดกันรวมถึงปกป้องการค้าจะเป็นอุปสรรคในช่วงระยะสั้นและกลางเท่านั้น
ทั้งนี้ เอเปกมีสมาชิกรวมทั้งหมด 21 ประเทศ และเขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย ไต้หวัน ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม ซึ่งทำให้คิดเป็นครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของการค้าทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีขนาดเศรษฐกิจ หรือจีดีพีมากถึง 60% ของจีดีพีโลก