นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒฯ เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2/2567 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า จีดีพีไทยไตรมาส 2 ปีนี้ขยายตัวเป็น 2.3% ขยายตัวได้เพียง +0.8% จากไตรมาสที่ 1 ผ่านมา นอกจากนี้ สภาพัฒน์ยังได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งปีในปี 2567 ลงเป็นครั้งที่ 2 ติดกัน จากเมื่อเดือนพฤษภาคมลดลงครั้งแรกมาอยู่ที่ 2.2 – 3.2% เป็นคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 2.3-2.8% นั่นหมายถึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 นี้ ขยายตัวไม่ถึง 3%
ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ขยายตัวต่ำกว่า และต่ำเป็นอันดับสุดท้ายในเศรษฐกิจ 6 ประเทศชั้นนำอาเซียน ดังนี้
1. เวียดนาม +6.93%
2. ฟิลิปปินส์ +6.30%
3. มาเลเซีย +5.90%
4. อินโดนีเซีย +5.05%
5. สิงคโปร์ +2.90%
และสุดท้าย 6. ไทย +2.30%
ที่สำคัญ เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่า และโตรั้งสุดท้ายของเศรษฐกิจ 6 ประเทศชั้นนำอาเซียนถึง 2 ไตรมาสติดกัน เนื่องจากในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ มีดังนี้ เศรษฐกิจ 6 ประเทศชั้นนำอาเซียน ดังนี้
1. ฟิลิปปินส์ +5.70%
2. เวียดนาม +5.60%
3. อินโดนีเซีย +5.11%
4. มาเลเซีย +4.20%
5. สิงคโปร์ +2.70%
และสุดท้าย 6. ไทย +1.50%
ในขณะที่ 6 เดือนแรกของปีนี้ หรือครึ่งปีแรกของ 2667 พบว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวเป็น +1.95% เนื่องจากในไตรมาสที่ 1 มีจีดีพีเติบโตเป็น 1.6% และในไตรมาส 2 นี้ เติบโตเป็น 2.3% อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ที่ระดับ +2.3% นี้ ถือได้ว่าเป็นตัวเลขจีดีพีสูงสุดในรอบ 6 ไตรมาสผ่านมา หรือตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ในปี 2566
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมผ่านมา นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1/2567 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่าจีดีพีไทยไตรมาส 1 ปีนี้ขยายตัวได้ 1.5% จากปีก่อนและขยายตัวได้ 1.1% จากไตรมาสที่ผ่านมา โดย สศช.ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งปีในปี 2567 จาก 2.2 – 3.2% เป็นคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 2 – 3% จากปัจจัยเรื่องสงครามการค้า และปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น ผลจากตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 1 ของไทย ส่งกลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำสุด และรั้งสุดท้ายในเศรษฐกิจทั้ง 6 ประเทศชั้นนำในอาเซียน
ขณะที่หลายประเทศชั้นนำในอาเซียนได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ไปก่อนประเทศไทยกันแล้ว เริ่มจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสิงคโปร์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 เพิ่มขึ้น 2.7% สอดรับกับรัฐบาลเวียดนามประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ หรือจีดีพีไตรมาส 1 ปีนี้ เติบโตมากถึง +5.6%
สำนักงานสถิตแห่งชาติ มาเลเซีย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจประเทศมาเลเซียขยายตัวที่ระดับ 4.2% ในไตรมาสที่หนึ่งของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาส่งผลทำสถิติภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วที่สุดในปีนี้ ภาวะเศรษฐกิจดังกล่าวนั้นยังขยายตัวต่อเนื่องถึง 1.4% จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 อีกด้วย
สาเหตุจากการบริโภคของภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ระดับ 4.7% ซึ่งนับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้วที่ภาคเอกชนมีการบริโภคอยู่ที่ 4.2% และความต้องการสินค้าจากประเทศประเทศมาเลเซียในภาคการส่งออกที่เติบโตสูงขึ้น โดยพบว่าตัวเลขการส่งออกในไตรมาสที่หนึ่งปีนี้ขยายตัวสูงถึง 5.2% นับเป็นเป็นการพลิกกลับตลาดส่งออกของมาเลเซียหลังจากที่ในไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้วการส่งออกของมาเลเซียชะลอตัวอย่างรุนแรงติดลบถึง 7.9%
ธนาคารกลางมาเลเซียคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจมาเลเซียในปีนี้ระหว่าง 4% ถึง 5% ซึ่งสูงมากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจมาเลเซียในปีผ่านมาที่ระดับ 3.7% ปัจจัยบวกที่ทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัวในเป้าหมายดังกล่าวมาจากการเติบโตขึ้นของการบริโภคใช้จ่ายภายใน และภาคการส่งออก
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติ ฟิลิปปินส์ แถลงว่า ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือจีดีพีในไตรมาสที่ 1 ปี 2024 นี้ พบว่า มีการขยายตัวแตะระดับ 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีผ่านมา และยังเติบโตขึ้นต่อจากไตรมาสที่ 4 ในปี 2023 ผ่านมา ที่ขยายตัวระดับ 5.5%
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2024 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ในอาเซียน แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือจีดีพีในไตรมาสที่ 1 ปี 2024 นี้ พบว่า มีการขยายตัวแตะระดับ 5.11% ส่งผลตัวเลขสูงกว่าที่ทุกฝ่ายคาดไว้มาก ซึ่งมอง ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 5.0% ที่สำคัญยังเป็นการขยายตัวที่สูงมากกว่าไตรมาสที่ 4 ในปีผ่านมา ซึ่งเติบโตได้ 5.04% และทำสถิติอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในรอบ 3 ไตรมาสหรือ 9 เดือนติดต่อกัน