นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กรณีที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่าเงินบาทแข็งค่าเกินไปนั้น ธปท. มองว่าเงินบาทแข็งค่าสอดคล้องกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ส่วนหนึ่งเกิดจากเงินดอลลาร์อ่อนค่า เนื่องจากคนเทขายดอลลาร์ แล้วไปถือสินทรัพย์อย่างอื่น และยอมรับว่าปัจจัยการเมืองในประเทศมีผลเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ธปท.จะจับตาอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 68 มีแนวโน้มที่จะชะลอลง จากตัวเลขของนักท่องเที่ยว ที่เริ่มเห็นทิศทางที่ชะลอลง และภาคการส่งออกที่เริ่มผลกระทบจากสงครามการค้าทำให้ตัวเลขส่งออกขยายตัวน้อยลงในระยะต่อไป โดยมี 4 ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ 1. นโยบายการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก 2. พัฒนาการของภาคการท่องเที่ยว 3. การปรับตัวของภาคธุรกิจที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และ 4. ปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ขณะที่ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาส 1 ปี 2568 อยู่ที่ 87.4% ลดลงจาก 88.4% ในไตมาส ที่ 4 ปี 2567 เป็นผลมาจาก GDP ที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงยอดการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง