แบงก์ชาติหาลูกหนี้เรื้อรังไม่เจอ ผงะตามตัวลูกหนี้ไม่มีหลักประกันไม่ได้ถึง 60% หนี้เสียยังกดต่ำไม่อยู่

นางสาวอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ งานฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เปิดเผยว่า แนวโน้มภาวะหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังมีสัญญาณเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่แบงก์ชาติประเมินไว้อยู่แล้วภายใต้เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า ภาวะหนี้เสียในปัจจุบัน พบว่า มีบางส่วนพบปัญหาที่ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้ ที่สำคัญลูกหนี้ที่ไม่สามารถติดต่อได้นั้น จะเป็นประเภทไม่มีหลักประกันมีสูงถึง 60% ในทางตรงกันข้าม ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย ซึ่งมีหลักประกันเช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ ไม่สามารถติดต่อไม่ได้ 30%

สำหรับความคืบหน้าโครงการแก้หนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ของแบงก์ชาติ ซึ่งเริ่มเมื่อเดือนเมษายนปี 2567 ที่ผ่านมา ปรากฎว่า จำนวนลูกหนี้ที่เข้าโครงการยังมีจำนวนต่ำมาก มีเพียง 1-2% เท่านั้น หรือราว 5,000-10,000 รายจากลูกหนี้ทั้งหมดที่เข้าข่ายเป็นหนี้ประเภทเรื้อรังราว 500,000 บัญชี เป็นวงเงินสินเชื่อกว่า 14,400 ล้านบาท

ผู้อำนวยการงานฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน แบงก์ชาติ ยอมรับว่าจำนวนลูกหนี้ที่เข้าโครงการยังมีจำนวนต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ นั่นจึงเป็นสาเหตุการขยายระยะเวลาในการปิดจบหนี้จากเดิม 5 ปี เป็น 7 ปี บนอัตราดอกเบี้ยที่ 15% หรือเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถเข้าโครงการได้มากขึ้นโดยการขยายเกณฑ์ให้ลูกหนี้ที่สามารถเข้าโครงการสามารถใช้วงเงินสินเชื่อบุคคลที่เหลือได้ จากก่อนหน้านี้ เมื่อลูกหนี้เข้าโครงการแก้หนี้เรื้อรังจะต้องปิดบัตรต่างๆ ทำให้ไม่สามารถใช้วงเงินสินเชื่อที่เหลือได้ แบงก์ชาติคาดการณ์ว่า มาตรการที่ขยายระยะเวลา และปรับเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม ปี 2568 เป็นต้นไปนั้น จะมีลูกหนี้เข้าสู่โครงการมากขึ้น เพิ่มเป็นราว 20% ของลูกหนี้เรื้อรังทั้งหมด หรือกว่า 100,000 รายจากทั้ง 500,000 บัญชี

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles