นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ เปิดเผยว่า เตรียมเรียกสถาบันการเงินเข้ามาชี้แจง กรณีจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท (DCC Fee) ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่าย ผ่านรายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตวีซ่า/มาสเตอร์การ์ด ชำระค่าสินค้าหรือบริการ ด้วยสกุลเงินบาทกับร้านค้า, ร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ และการกดเงินสดที่เลือกเป็นสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป ว่ามีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการให้บริการในส่วนนี้อย่างไร
ทั้งนี้ แบงก์ชาติจะพิจารณาว่า ค่าธรรมเนียมดังกล่าว เรียกเก็บอะไร เก็บเท่าไหร่ ต้องมาพิจารณาหลักการ ว่าในบริการนั้นๆ ผู้ที่ได้ประโยชน์คือใครก็ควรต้องรับต้นทุนในส่วนนี้ โดยพิจารณาเทียบเคียงที่มาที่ไปของต้นทุน และต่อให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจริง ผู้คิดค่าบริการก็ต้องประกาศออกไป ให้ประชาชนทราบว่าเป็นการเสียค่าใช้จ่ายอะไร ประชาชนก็ต้องไปเลือกใช้อย่างอื่น ไม่ใช่ลักษณะบังคับต้องจ่าย เป็นหลักโดยทั่วไป
ส่วนกรณีเรียกเก็บ 1% สูงไปหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตัดสินได้ แบงก์ชาติต้องรับฟังทั้ง 2 ด้าน ซึ่งกรณีนี้มี 3 ฝ่าย คือ
1. ผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ถูกเรียกเก็บ
2. ทางสถาบันการเงินที่เป็นคนเก็บ
และ 3. ตัวกลาง คือ วีซ่า/มาสเตอร์การ์ด ที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้รับฟังผู้ใช้บริการแล้ว ก็ขอฟังทั้ง 2 ด้าน แต่เชื่อว่าการหารือจะจบได้ก่อน 1 พ.ค.
สำหรับ ผู้ให้บริการที่จดทะเบียนในต่างประเทศที่ผู้ใช้งานก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม เช่น Netflix, FACEBOOK, GOOGLE, AIRBNB, EBAY, SPOTIFY, ALIBABA, VIU, Agoda, APPLE, TikTok, PAYPAL เป็นต้น