นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินบาทไม่ได้แข็งค่าที่สุดในภูมิภาค แต่อยู่อันดับที่ 2 และ ที่ 3 ในขณะที่เงินริงกิต มาเลเซียได้แข็งค่าแล้ว 11% โดยไทยมีปัจจัยเฉพาะด้วยจากเสถียรภาพของรัฐบาลที่ดีขึ้น ซึ่งมาจากการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นโดยรวมดีขึ้น รวมถึงราคาทองคำที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง และ แข็งค่ารวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาเริ่มชะลอตัว และ เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ รวมถึงเงินเยน ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน ส่งผลให้ตลาดประเมินว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น อาจปรับตัวดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัดไป ส่วนการแข็งค่าของเงินหยวน จากการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินหยวนแข็งค่า และทำให้ค่าเงินบาทตลอดจนค่าเงินในภูมิภาคปรับตัวแข็งค่าขึ้น
แบงก์ชาติได้เข้าไปดูแลค่าเงินบาทช่วงที่มีความผันผวนสูง เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น สะท้อนผ่านทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นมาจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ทำให้การตีราคาสินทรัพย์ในทุนสำรองปรับเพิ่มขึ้น และ อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเข้าไปดูแลค่าเงินบาทของ ธปท.