นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือโทลล์เวย์ เปิดเผยว่า หากกระทรวงคมนาคมจะให้ชะลอการขึ้นค่าผ่านทางวันที่ 22 ธันวาคม 2567 นี้ บริษัทพร้อมให้ความร่วมมือ และขอความเป็นธรรมด้วย ควรต้องมีการหารือร่วมกัน หากบริษัทดำเนินการแล้วจะชดเชยอะไรให้บริษัทบ้าง เพราะทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานทำไว้กับกรมทางหลวง(ทล.) ที่ปรับราคาได้ทุก 5 ปี ตลอดอายุสัญญา ครั้งละ 5-10 บาท ปัจจุบันบริษัทยังเหลือสัมปทาน 10 ปี ยังเหลือการปรับราคาอีก 2 ครั้ง คือ รอบวันที่ 22 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2572 และครั้งสุดท้ายวันที่ 22 ธันวาคม 2572 ถึงสิ้นสุดสัญญาวันที่ 12 กันยายน 2577
ขณะนี้ สัญญายังไม่หมด คงทำอะไรไม่ได้ ถ้ากระทรวงคมนาคมหรือรัฐต้องการให้เราชะลอขึ้นค่าผ่านทาง ก็ต้องมาคุยกัน จะมีเงื่อนไขอะไรบ้าง อย่าผลักภาระมาให้เราฝ่ายเดียว รัฐต้องช่วยเอกชนด้วย แนวทางที่ง่ายสุด คือ ขยายอายุสัมปทาน เพราะรัฐไม่ต้องชดเชยรายได้ให้ หรือให้เราลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างส่วนต่อขยายจากรังสิต-บางปะอินให้และรับสัมปทานตลอดโครงการตั้งแต่ดินแดง-บางปะอินก็ได้ ทุกอย่างอยู่ที่การเจรจา อย่างไรก็ตามโทลล์เวย์เป็นทางเลือกในการเดินทาง ไม่ใช่ทางที่ผูกขาด ประชาชนสามารถเลือกได้ว่าจะใช้บริการหรือไม่ใช้ก็ได้
สำหรับปัจจุบันโทลล์เวย์มีปริมาณการจรานเฉลี่ยกว่า 100,000 คันต่อวัน โดยค่าผ่านทางที่จะใช้วันที่ 22 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2572 ช่วงดินแดง-ดอนเมือง รถ 4 ล้อ ปรับจาก 80 บาท เป็น 90 บาท มากกว่า 4 ล้อ จาก 110 บาท เป็น 120 บาท ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน 4 ล้อ ปรับจาก 35 บาท เป็น 40 บาท มากกว่า 4 ล้อจาก 45 บาท เป็น 50 บาท
ส่วนครั้งสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2572 ถึงสิ้นสุดสัมปทาน ช่วงดินแดง-ดอนเมือง รถ 4 ล้อ จาก 90 บาท เป็น 100 บาท มากกว่า 4 ล้อ จาก 120 บาท เป็น 130 บาท ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน รถ 4 ล้อ จาก 40 บาท เป็น 45 บาท มากกว่า 4 ล้อ ปรับจาก 50 บาท เป็น 55 บาท