ไทยเล็งต่อรองสหรัฐ เพิ่มนำเข้าก๊าซอีเทน แอลเอ็นจีจากสหรัฐ จากปัจจุบันซื้อขายอยู่แล้ว พับแผนนำเข้าหมูเพราะยังไม่ขาดแคลน คาดเจรจาสัปดาห์หน้า

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางดำเนินการของไทย ต่อกรณีนโยบายการค้าของสหรัฐ ว่า ได้มีการหารือกับ บมจ. ปตท. (PTT) ในเบื้องต้นถึงแผนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ เพิ่มเติมอีก 1 ล้านตันเศษภายในระยะเวลา 5 ปี มูลค่าราว 600 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นส่วนที่ใกล้จะหมดสัญญาซื้อขายจากแหล่งอื่น ๆ ซึ่งในส่วนนี้ไทยจะพิจารณานำเข้าจากสหรัฐฯ แทน

โดยปัจจุบันไทยได้มีการทำสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG จากสหรัฐฯ อยู่แล้วปีละ 1 ล้านตัน มูลค่าปีละ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ระยะเวลา 15 ปี ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีปริมาณนำเข้าก๊าซ LNG ค่อนข้างมาก เฉลี่ยปีละกว่า 10 ล้านตัน ซึ่งเป็นการจัดหาจากหลายแหล่ง เช่น ตะวันออกกลาง โดยในระยะยาวประเทศไทยยังมีความต้องการใช้และต้องการนำเข้าเพิ่มอีก ดังนั้น เป็นโอกาสดีที่จะมาพิจารณาการนำเข้าจากสหรัฐเพิ่มเติม ซึ่งเชื่อว่า ปตท.จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดหาก๊าซ LNG ในระยะยาวของประเทศไทยได้ คาดว่าน่าจะเริ่มจัดส่งได้ในปี 2569 และมีแผนใหม่จากสัญญาซื้อขายที่กำลังจะหมดลง

ขณะเดียวกัน ในระยะข้างหน้าไทยวางแผนว่า หากมีการนำเข้าก๊าซ LNG จำนวนมาก และเมื่อเพียงพอใช้ภายในประเทศแล้ว ก็อาจจะนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายต่อให้กับประเทศในภูมิภาคใกล้เคียงได้ เนื่องจาก ปตท. เองมีพื้นที่จัดเก็บจำนวนมาก และพร้อมที่จะนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายต่อได้ เนื่องจากเชื่อมั่นว่าก๊าซธรรมชาติจะยังเป็นเชื้อเพลิงหลักของโลกต่อไปอีก 30 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงมองว่าไทยจะสามารถดำเนินการนำเข้าก๊าซ LNG จากสหรัฐฯ เพิ่มเติมได้

พร้อมกันนี้ จะไปหารือถึงแผนการที่ไทยจะนำเข้าก๊าซอีเทนจากสหรัฐฯ ปริมาณ 4 แสนตัน มูลค่า 100 ล้านเหรียญ ในระยะเวลา 4 ปี ถือเป็นการซื้อขายระยะยาว ซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นความจำเป็นสำหรับประเทศไทย เนื่องจากก๊าซอีเทน เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปิโตรเคมี และถือเป็นต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าการใช้น้ำมันดิบ ที่แม้ปัจจุบันจะสามารถผลิตได้ในอ่าวไทย แต่ก็ไม่ค่อยเพียงพอแล้ว

ส่วนการนำเข้าสินค้าเกษตรนั้น ยืนยันว่า รัฐบาลจะพิจารณานำเข้าในส่วนที่ไม่กระทบกับเกษตรกรไทย โดยเฉพาะข้าวโพด ซึ่งปัจจุบันไทยต้องมีการนำเข้าปีละ 4 ล้านกว่าตัน ขณะที่สหรัฐฯ ถือว่าเป็นผู้ผลิตหลัก ทำให้จะมีต้นทุนที่ถูกกว่าการนำเข้าจากแหล่งอื่น โดยเป้าหมายคือการนำเข้ามาแปรรูปเพื่อส่งออก เช่น อาหารสัตว์ ที่ประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดที่ดี ขณะที่แนวคิดเรื่องการนำเข้าสุกรนั้น ขณะนี้คงจะไม่ดำเนินการ เพราะหลังจากได้พิจารณากันแล้ว พบว่าไทยยังไม่ขาดแคลน หรือยังไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าสุกรเพิ่ม

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles