คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย นำคณะฯ เข้าหารือ พร้อมมอบสมุดปกขาวข้อเสนอทางเศรษฐกิจต่อนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ, การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME), การบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ และแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร. กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กระทบการส่งออกในภาคเกษตรและการผลิต หนี้ครัวเรือนสูง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมยังพึ่งพาการผลิตต้นทุนต่ำ ขาดนวัตกรรม และการพัฒนาทักษะแรงงานยังไม่ทันต่อความต้องการ ดังนั้น เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจทันที 4 ประเด็นด้วยกัน คือ
1. การแก้ไขปัญหาหนี้โดยเฉพาะหนี้เสียจากสินเชื่อรถยนต์ (กระบะ) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทำมาหากินของประชาชน ส่วนนี้จำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือเป็นการเฉพาะ เช่น ยืดระยะเวลาชำระหนี้ 3-6 เดือน เป็นต้น
2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม จากการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาลไปยังกลุ่มเปราะบางแล้ว โดยเสนอให้เสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะโครงการคูณสอง โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณกึ่งหนึ่ง เพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายช่วงต้นปี 2568 เช่น Easy e-Receipt และมาตรการทางภาษีอื่น ๆ เป็นต้น
3. สานต่อโครงการยกระดับ 10 เมืองนำร่องสู่เมืองหลักที่ยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาหอการค้าฯ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับนพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีและทีมงาน มาแล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม กาญจนบุรี และราชบุรี
4. ขอให้รัฐบาลสนับสนุน Soft Power ผ่านการจัดกิจกรรม เทศกาลอวดเมือง ในจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงช่วยเพิ่มการประชาสัมพันธ์ ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดงานซีเกมส์ในปี 2568 และเจ้าภาพการจัดงานพืชสวนโลกปี 2569 จ.อุดรธานี และในปี 2572 จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้ นายกฯ รับปากว่า จะมีการตั้งกรอ. ระหว่างรัฐบาลและเอกชน โดยอาจจะมีการประชุมทางการกัน 6 เดือนครั้ง ในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องโครงการคูณสอง และโครงการ Easy e-Receipt หรือโครงการลดหย่อนภาษีประจำปี 2567 นายกรัฐมนตรีได้รับเรื่อง และจะไปพิจารณาร่วมกัน
ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีหารือเรื่องหนี้ครัวเรือน และหนี้เอสเอ็มอี โดยจะเป็นการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย รวมถึงหนี้ครัวเรือนในส่วนของรถกระบะก็จะมีแนวทางช่วยเหลือออกมาด้วย โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 67 รัฐบาลยังหวังที่จะเห็นจีดีพีโตได้ 2.7-28% ขณะที่กกร.เชื่อมั่นว่า ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด จะมีส่วนช่วยผลักดันข้อเสนอดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้เต็มศักยภาพ โดยมีเป้าหมายให้ GDP ของไทยกลับมาเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 4 – 5% ในปี 68