กกร. หั่นคาดการณ์จีดีพีไทย กรณีไทยถูกเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 36% ในครึ่งปีหลังจะโตได้แค่ 0.7-1.4%  ส่งออกหดตัว -2% 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวได้ราว 2.0-2.2% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 2.4-2.9% ปัจจัยหลักมาจากผลกระทบของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยประเมินภายใต้สถานการณ์ที่สินค้าไทยถูกเรียกภาษีศุลกากรตอบโต้ที่อัตรา 10% ในช่วงไตรมาส 2/68 (หลังมีการเลื่อนขึ้นภาษีเต็มรูปแบบออกไป 90 วัน) และอัตราภาษีในครึ่งปีหลัง ยังอยู่ที่ 10% ที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีเติบโตเพียง 0.3-0.9% จากประมาณการเดิมที่ 1.5-2.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อของปี 68 มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำที่ 0.5-1.0% ลดลงจากประมาณการเดิมเช่นกัน แต่หากไทยถูกเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 36% ในครึ่งปีหลัง คาดว่า GDP ปี 68 จะโตเพียง 0.7-1.4% เหตุจากการส่งออกทั้งปีอาจหดตัวได้มากถึง -2%  

ทั้งนี้ ปัจจัยลบจากสงครามการค้า สามารถก่อให้เกิดหลุมรายได้ขนาดใหญ่ถึง 1.6 ล้านล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อลดภาษีให้สำเร็จ ประกอบกับยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ในภาวะที่ตลาดสินค้ามีการแข่งขันรุนแรงขึ้น

กกร. มีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว มาอยู่ในช่วง 32.50-32.70 บาท/ดอลลาร์ฯ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าระดับที่ธุรกิจแข่งขันได้ โดยมองว่าควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงิน ไม่ให้แข็งค่าหรือ ผันผวนเร็วจนเกินไป และการสื่อสารเชิงรุก เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถรับรู้และปรับตัวได้ทันการณ์ อีกทั้งยังจำเป็นต้องมีการส่งผ่าน ประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็ง เช่น ต้นทุนนำเข้าสินค้าพลังงาน และวัตถุดิบ โดยเฉพาะในภาคเกษตรฯ ที่ลดลงไปยังภาคการผลิต และภาค ประชาชนให้ได้อย่างเป็นระบบ 

ทั้งนี้ กกร. สนับสนุนภาครัฐในการดำเนินแนวทางการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดจากสถานการณ์เบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) จากมาตรการขึ้นภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการใช้มาตรการปกป้องการนำเข้า สินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure) เพื่อช่วยปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศไทย ที่มีแนวโน้มที่จะได้รับความเสียหายจากการนำ เข้าที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่าปกติ ซึ่งภาครัฐจะต้องบูรณาการความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลการนำเข้าและส่งออก มีการใช้ระบบดิจิทัล e-Government เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ ติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์สินค้านำเข้าจากการเบี่ยงเบนทางการค้า รวมทั้งมีการปรับกระบวนการ โดยให้ภาครัฐสามารถเริ่มเปิดไต่สวนได้ทันที หากพบว่ามีการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่าปกติ เพื่อให้สามารถป้องกันผลกระทบได้ทัน ต่อสถานการณ์

“นอกเหนือจากการที่ไทยจะต้องเร่งเจรจากับสหรัฐฯ ในเรื่องการปรับลดกำแพงภาษีแล้ว ยังต้องติดตามผลการเจรจาของ ประเทศคู่แข่งของไทย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งหากประเทศเหล่านี้ สามารถเจรจาขอยกเว้น หรือลดอัตราภาษี นำเข้าได้ต่ำกว่าไทย ก็อาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ได้ ขณะเดียวกัน การที่สหรัฐฯ และจีน ได้ส่งสัญญาณที่จะเตรียมการเจรจาเพื่อคลายความตึงเครียดทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ก็เป็นสัญญานบวกต่อการค้าโลก” นาย เกรียงไกร ระบุ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles