นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรองประธานกรรมการการบินพลเรือน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 เปิดเผยว่า ได้แจ้งที่ประชุมให้รับทราบถึงข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาล ที่ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบินของภูมิภาค จึงขอให้เร่งรัดการดำเนินการปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการกำกับดูแล (Regulations) การบินพลเรือน เพื่อให้สอดคล้องและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวต่อไป โดย กบร.ได้ประชุมพิจารณาเรื่องต่างๆ และมีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับฯ 7 ฉบับ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ .. การปฏิเสธการรับขนผู้โดยสารซึ่งออกตามความในมาตรา 41/133 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 ตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT นำเสนอและให้ กพท. ดำเนินการสื่อสารข้อบังคับให้ประชาชนและผู้ประกอบการสายการบินรับทราบอย่างชัดเจน รวมทั้งตรวจติดตามการบังคับใช้กฎระเบียบในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดด้วย โดยร่างข้อบังคับฯ ฉบับนี้มีสาระสำคัญ กรณีที่ผู้ขนส่งจะปฏิเสธการรับขนได้ ดังนี้
1.1 ผู้โดยสารซึ่งเป็นผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ แต่ไม่ได้แจ้งขอรับบริการช่วยเหลือพิเศษล่วงหน้าภายในกำหนดเวลาที่ผู้ขนส่งแต่ละรายกำหนด แล้วเป็นเหตุให้ผู้ขนส่งนั้นไม่สามารถจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างเหมาะสมและเกิดความปลอดภัยในการเดินทาง สำหรับผู้โดยสารนั้น
1.2 ผู้โดยสารนั้นไม่สามารถแสดงเอกสารการเดินทางซึ่งเป็นเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่สามารถใช้ระบุตัวตน หรือเอกสารที่ใช้ในการผ่านแดนหรือการเข้าเมืองต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้
1.3 ผู้โดยสารที่หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศปลายทางหรือประเทศที่เป็นจุดแวะพักแจ้งว่าจะไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศหรือแวะพัก
1.4 ผู้โดยสารที่เป็นทารกแรกเกิดอายุต่ำกว่าสิบสี่วัน
1.5 ผู้โดยสารอายุต่ำกว่าห้าปีที่เดินทางโดยลำพัง
1.6 ผู้โดยสารที่มีอายุครรภ์เกินที่กำหนดในเงื่อนไขในการขนส่งของผู้ขนส่งแต่ละราย
2. เห็นชอบร่างข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ .. มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารในเที่ยวบินแบบประจำภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพิ่มมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารเที่ยวบินแบบประจำระหว่างประเทศ จากเดิมที่มีประกาศกระทรวงคมนาคมที่ใช้ในการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารเฉพาะเที่ยวบินในประเทศ
3. เห็นชอบร่างข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ .. ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณและอัตราขั้นสูงของค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่ง โดยคงหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ และอัตราขั้นสูงของค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งไว้เช่นเดิม ทั้งนี้ ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการการบินพลเรือน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งในเส้นทางบินภายในประเทศ พ.ศ. 2561 ประกาศ ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
4. เห็นชอบร่างข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ .. ว่าด้วยค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน ณ สนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาตซึ่งให้บริการแก่สาธารณะ
5. เห็นชอบร่างข้อบังคับของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ฉบับที่ .. ว่าด้วยวินัยผู้ประจำหน้าที่
6. เห็นชอบร่างข้อบังคับของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย .. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการควบคุมการผลิตผลิตภัณฑ์
7. เห็นชอบร่างข้อบังคับของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ฉบับที่ .. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะของผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบการให้บริการในลานจอดอากาศยานหรือบริการช่างอากาศ
นอกจากนี้ กบร.ยังมีมติในเรื่องต่างๆอาทิ เห็นชอบยกเว้นการเริ่มประกอบกิจการโดยการทำการบินจริง (Actual Flight Operation) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน จำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัทไทย ซีเพลน จำกัด บริษัทอาร์ ซี แอร์ไลนส์ จำกัด บริษัทเอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด บริษัทเอเชีย แอทแลนติก แอร์ไลน์ส และบริษัทพี 80 แอร์ จำกัด รวมถึงเห็นชอบการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน จำนวน 2 ราย ให้แก่
– บริษัทสยามยามาฮ่ามอเตอร์โรโบทิคส์ จำกัด ขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ประเภทการทำงานทางอากาศ (อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินเพื่อการเกษตร) และ
– บริษัทดรอปโซน (ไทยแลนด์) จำกัด ขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน ประเภทการทำงานทางอากาศ (เพื่อการทิ้งร่มอากาศ)
อีกทั้งยังได้ เห็นชอบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน คณะกรรมการการบินพลเรือนพิจารณาให้ความเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัทไทย แอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์ จำกัด ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ แบบประจำมีกำหนด และบริษัทบีบีเอ็น แอร์ไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ แบบไม่ประจำ