นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ( กยศ. ) เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนฯ ได้ดำเนินการคำนวณยอดหนี้ใหม่ (Recalculation) ให้แก่ผู้กู้ยืมแล้วเสร็จ รวมกว่า 3.65 ล้านบัญชี พบว่ามีผู้กู้ยืมได้รับประโยชน์จากการคำนวณยอดหนี้ใหม่ ตาม พ.ร.บ. กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งมีผลให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือ 0.5% และตัดชำระเงินต้นเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด ดอกเบี้ยอัตรา 1% และเบี้ยปรับตามลำดับ ทำให้มีผู้กู้จำนวนกว่า 2.98 ล้านราย มียอดหนี้ลดลง 56,326 ล้านบาท
โดยผู้กู้ยืมส่วนใหญ่มียอดหนี้ลดลง บางรายสามารถปิดบัญชีได้ และบางรายได้รับเงินคืน โดยผู้กู้ยืมสามารถตรวจสอบยอดหนี้ที่คำนวณใหม่ได้ที่หน้าเว็บไซต์ กยศ. ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผู้กู้ที่ยื่นปรับโครงสร้างหนี้ และทำสัญญาใหม่กับกยศ. จะเป็นผลดีต่อผู้ค้ำประกันรายเดิมให้พ้นจากความรับผิด และสามารถผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 15 ปี
“ขณะนี้กยศ.ได้ชะลอการฟ้องคดี ขยายเวลาบังคับคดี และงดการขายทอดตลาด และมีหนังสือถึงสำนักงานทนายความทุกแห่งให้งดการบังคดีแล้ว ดังนั้นขอให้ลูกหนี้กยศ. เช็คยอดหนี้ของตัวเองแล้ว มายื่นปรับโครงสร้างหนี้กับกยศ. เพื่อกยศ.จะได้มีเงินหมุนเวียนไปให้กู้รุ่นน้องถัดไป”
สำหรับผู้กู้ยืมได้รับประโยชน์จากการคำนวณยอดหนี้ใหม่จำนวนกว่า 2.98 ล้านราย แบ่งออกเป็น
–ผู้กู้ยืมมียอดหนี้ที่ต้องชำระลดลง จำนวน 2.8 ล้านราย
–ผู้กู้ยืมที่มียอดชำระหนี้ครบถ้วนและสามารถปิดบัญชีได้ จำนวน 177,936 ราย
–มีผู้จะได้รับเงินคืน จำนวน 177,917 ราย เป็นเงิน 2,104 ล้านบาท
–สามารถหยุดหักเงินเดือนผ่านองค์กรนายจ้าง จำนวน 18,326 ราย
ทั้งนี้ กยศ. มีการใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2539-2560 กว่า 4.68 แสนล้านบาท และไม่มีการของบประมาณอีก โดยใช้เงินทุนหมุนเวียนจากการได้รับชำระหนี้
อย่างไรก็ตาม หลังมีการคำนวณหนี้ใหม่ตามกฎหมาย จะทำให้ กยศ.มียอดการรับชำระหนี้ลดลง และอาจต้องใช้ระยะเวลาก่อนที่จะสามารถสะสมเงินกองทุนฯ ให้มีสภาพคล่องเพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม โดย กยศ.ขอจัดสรรงบประมาณปี 2568 วงเงิน 19,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่าน่าจะได้รับจัดสรร 8,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงบประมาณ
ปัจจุบัน กยศ. มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท โดยมียอดการรับชำระหนี้เดือนละ 2-3 พันล้านบาท และยอดจ่ายออก 3-4 พันล้านบาท โดยคาดว่าเมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะทำให้ลูกหนี้กลับเข้ามาในระบบมากขึ้นและทำให้ กยศ.มีเงินสะสมในระดับที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ในปีการศึกษา2567 กยศ.ได้เตรียมเงินปล่อยกู้ 48,344 ล้านบาท โดยขอยืนยันว่า คนที่จะขอกู้เงินกยศ.เพื่อเรียนต่อนั้น หากยื่นเอกสารคครบถ้วนตามเงื่อนไข จะได้รับอนุมัติให้กู้เงินเพื่อเรียนต่อทันที่ กยศ.มีเงินให้ผู้กู้ทุกคนตามนโยบายรัฐบาล