กรมทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นทะเบียน “ลิ้นจี่จักรพรรดิฝาง” เป็นสินค้า GI เชียงใหม่รายการใหม่

81
0
Share:

นางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญามีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานรากบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อยกระดับสินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า พร้อมส่งเสริม   การควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความั่นใจให้แก่ผู้บริโภคและขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI รายการใหม่ “ ลิ้นจี่จักรพรรดิฝาง สินค้า GI ลำดับที่ 6 ของจังหวัดเชียงใหม่ ต่อจากผ้าตีนจกแม่แจ่ม ร่มบ่อสร้าง ศิลาดลเชียงใหม่ กาแฟเทพเสด็จ และส้มสายน้ำผึ้งฝาง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้านี้ ซึ่งปัจจุบันมีสินค้า GI ไทยที่ขึ้นทะเบียน 205 รายการ สร้างมูลค่าการตลาดรวม 71,000 ล้านบาท 

ลิ้นจี่จักรพรรดิฝางคือ ลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ ทรงผลคล้ายรูปหัวใจ มีขนาดใหญ่ เปลือกหนาสีแดงอมชมพู ผิวเปลือกหยาบคล้ายกำมะหยี่ เนื้อหนาสีขาวขุ่น ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม ปลูกครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และอำเภอไชยปราการ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 25.4 องศาเซลเซียส มีอากาศหนาวเย็นในช่วง เดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ และมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สำคัญหลายสาย ได้แก่ แม่น้ำฝาง ลำห้วยแม่ใจ ลำน้ำแม่มาว ลำน้ำแม่เผอะ เขื่อนแม่มาว เขื่อนบ้านห้วยบอน ห้วยแม่งอน เป็นต้น รวมไปถึงยังมีน้ำพุร้อน ที่มักพบอยู่ในพื้นที่บริเวณหินภูเขาไฟที่ดับแล้ว ส่งผลให้น้ำอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ จากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ทำให้พื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ เป็นแหล่งที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกลิ้นจี่จักรพรรดิ ลิ้นจี่มีคุณภาพและมีปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูง มีผลขนาดใหญ่ เนื้อหนา ฉ่ำน้ำ มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอฝางมาอย่างยาวนาน จนมีปรากฏในคำขวัญที่ว่าเมืองฝาง เมืองลิ้นจี่ สตรีสวย รวยกระเทียม เยี่ยมมันฝรั่ง ดังหอมหัวใหญ่และยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรกว่า 429 ล้านบาทต่อปี

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ไทยอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนช่องทางการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนอย่างยั่งยืน                    ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอเชิญชวนทุกท่านติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว และร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้า GI ได้ที่ Facebook Page : GI Thailand หรือโทรสายด่วน 1368