นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้ทำการวิเคราะห์ลงลึกและต่อเนื่องถึงธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้สูงสุด 10 อันดับแรกได้แก่
1. ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงกลั่นปิโตรเลี่ยม ทำรายได้ 3.84 ล้านล้านบาท
2. ธุรกิจขายส่งนาฬิกาและเครื่องประดับ ทำรายได้ 3.12 ล้านล้านบาท
3. ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ ทำรายได้ 2.39 ล้านล้านบาท
4. ธุรกิจผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล ทำรายได้ 1.56 ล้านล้านบาท
5. ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ สำหรับยานยนต์ ทำรายได้ 1.55 ล้านล้านบาท
6. ธุรกิจขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถนั่งส่วนบุคคลฯ ทำรายได้ 1.45 ล้านล้านบาท
7. ธนาคารพาณิชย์ ทำรายได้ 1.11 ล้านล้านบาท
8. ธุรกิจอสังหาริงมทรัพย์ ทำรายได้ 1.07 ล้านล้านบาท
9. ธุรกิจขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในร้านเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน ทำรายได้ 1.02 ล้านล้านบาท
และ 10. ธุรกิจขายส่งเชื้อเพลิงเหลว ทำรายได้ 0.96 ล้านล้านบาท
โดยธุรกิจทั้ง 10 อันดับที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดแอล ที่สามารถทำรายได้สูงสุดในธุรกิจแต่ละประเภท แต่จากกระแสอาร์ตทอยที่สร้างสรรค์งานศิลปะ โดยศิลปินจากต่างประเทศและในประเทศไทยก็กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก ส่งผลให้ธุรกิจของเล่นกลายเป็นธุรกิจที่ต้องจับตามอง แม้ในช่วง 5 ปี ย้อนหลังที่ผ่านมา (2562–2566) ธุรกิจของเล่นจะมีการเติบโตที่ผันผวน เนื่องจากปัจจัยด้านการแพร่ระบาดของโควิด–19 ที่ส่งผลกระทบเชิงลบ แต่เมื่อสถานการณ์สงบลง ธุรกิจของเล่นก็ใช้เวลาไม่นานในการฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว เฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจขนาดเล็กที่ครองตลาดส่วนใหญ่มากถึง 1,024 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตจำนวน 220 ราย และกลุ่มขายจำนวน 804 ราย คิดเป็น 93.7% จากจำนวนธุรกิจของเล่นที่มีจำนวน 1,093 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตจำนวน 238 ราย และกลุ่มขายจำนวน 855 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 5,692.21 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มผลิตจำนวน 2,909.61 ล้านบาท และกลุ่มขายจำนวน 2,782.60 ล้านบาท
ในปี 2566 ธุรกิจของเล่นสามารถสร้างรายได้รวมถึง 19,677.21 ล้านบาท ทำกำไรได้ 467.62 ล้านบาท ซึ่งการส่วนสำคัญของเติบโตของธุรกิจของเล่นเป็นผลมาจากการเกิดกลุ่มในวงการของเล่นที่เรียกว่า Kidult ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีความนิยมในการสะสมของเล่นและมีกำลังการซื้อสูงในการตอบสนองความต้องการในวัยเด็ก การสะสมเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต โดยการนำส่งงบการเงินประจำปี 2566 รายได้ของนิติบุคคลทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 57.86 ล้านล้านบาท และมีผลกำไรกว่า 2.34 ล้านล้านบาท กลุ่มภาคการผลิต สามารถทำรายได้สูงสุดจำนวน 23.72 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.00% ของรายได้ทั้งหมด เป็นผลกำไรจำนวน 1.10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 47.03% ของกำไรสุทธิทั้งหมด รองลงมาคือกลุ่มภาคขายส่ง/ปลีก ทำรายได้ 23.32 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40.30% ของรายได้ทั้งหมด ทำกำไรอยู่ที่ 0.46 ล้านล้านบาท คิดเป็น 19.57% ของกำไรสุทธิทั้งหมด และกลุ่มภาคบริการ ทำรายได้จำนวน 10.82 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18.70% ของรายได้ทั้งหมด เป็นผลกำไรจำนวน 0.78 ล้านล้านบาท คิดเป็น 33.40% ของกำไรสุทธิทั้งหมด
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้วิเคราะห์การจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือน พ.ค. 67 พบว่ามีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 7,499 ราย เพิ่มขึ้น 969 ราย คิดเป็น 14.84% เมื่อเทียบกับจากเดือนที่ผ่านมา (เม.ย. 67) และเพิ่มขึ้น 62 ราย คิดเป็น 0.83% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (พ.ค. 66) โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 21,887.12 ล้านบาท ลดลง 5,384.75 ล้านบาท คิดเป็น 19.74% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (เม.ย. 67) และลดลง 6,527.35 ล้านบาท คิดเป็น 22.97% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (พ.ค. 66)
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของธุรกิจในเดือน พ.ค. มีการกระจายตัวในทุกประเภทธุรกิจ โดยประเภทธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 662 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 545 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 353 ราย คิดเป็นสัดส่วน 8.83% 7.24% และ 4.71% ตามลำดับ ขณะที่จำนวนการจดทะเบียนเลิกธุรกิจมีถึง 1,004 ราย เพิ่มขึ้น 194 ราย คิดเป็น 23.95% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. 67 และลดลง 230 ราย คิดเป็น 18.64% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (พ.ค. 66) โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 54,804.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49,707.54 ล้านบาท คิดเป็น 975.26% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ เม.ย. 67 และเพิ่มขึ้น 46,564.47 ล้านบาท คิดเป็น 565.11% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (พ.ค. 66) ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนจัดตั้งปี 2567 (ม.ค. – พ.ค.) มีจำนวน 39,032 ราย มีอัตราการจัดตั้งลดลงเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. – พ.ค. 66) ซึ่งกรมฯ คาดว่าเป็นผลจากมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ อาทิ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเพื่อการท่องเที่ยว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นขึ้น อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังคงมีความกังวลกับการเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า รวมถึงเสถียรภาพทางการเมือง และความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้การคาดการณ์ยอดจดทะเบียนธุรกิจทั้งปี 2567 มีอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จากข้อมูลดังกล่าวทำให้คาดการณ์ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในครึ่งปีแรกของปี 2567 จะอยู่ที่ 44,000–47,000 ราย และทั้งปีคาดว่าจะเกิน 95,000 รายได้เแน่นอน