นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประสบภัยพิบัติอุทกภัยและประชาชนว่ามีกลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายมิจฉาชีพหลอกลวงอ้างเป็นธุรกิจให้บริการสินเชื่อ (เงินกู้) ทางออนไลน์ โดยโฆษณาเชิญชวนให้สมัครใช้บริการกู้เงินผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชัน และการส่งต่อลิ้งค์ของเว็บไซต์ต่างๆ พร้อมอ้างความมีตัวตนในการจดทะเบียนนิติบุคคลสร้างความน่าเชื่อถือและหลอกลวงให้หลงเชื่อ ท้ายที่สุดผู้ประสบภัยพิบัติและประชาชนกลับไม่ได้รับเงินกู้จากกลุ่มบุคคลดังกล่าว หนำซ้ำยังต้องสูญเสียเงินที่อ้างว่าเป็นค่าดำเนินการก่อนจึงจะสามารถโอนเงินกู้กลับไปให้หรือต้องรอรับรหัสการกู้เงิน ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการหลอกลวงและสร้างความเสียหายแก่ผู้ประสบภัยพิบัติและประชาชน โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ที่หลายคนกำลังประสบความเดือดร้อนและต้องการเงินเพื่อใช้ในการฟื้นฟู/ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือธุรกิจ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอเตือนว่า หากผู้ประสบภัยพิบัติหรือประชาชนทั่วไปที่ต้องการทำธุรกรรมที่มีความละเอียดอ่อน เช่น ด้านการเงินหรือการขอสินเชื่อ จำเป็นต้องแสวงหาและตรวจค้นข้อมูลเชิงลึกของผู้ให้บริการด้านการเงินอย่างละเอียดรอบคอบก่อน อย่าเพิ่งรีบทำตามวิธีที่ผู้แอบอ้างเป็นสถาบันการเงินให้ดำเนินการ ไม่ว่าด้วยวิธีการให้โอนเงินค่าดำเนินการก่อน การดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือการกดลิงค์จากเว็บไซต์ต่างๆ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ผู้ประสบภัยพิบัติและประชาชนส่วนหนึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อนและต้องการใช้เงินเร่งด่วน เพื่อนำไปซ่อมแซมฟื้นฟูที่อยู่อาศัย กิจการ หรือ นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มิจฉาชีพจึงอาศัยช่วงเวลานี้หลอกลวงผู้ประสบภัยพิบัติหรือประชาชน ถือเป็นการซ้ำเติมให้ได้รับความเดือดร้อนขึ้นไปอีก
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า การจะทำธุรกรรมทางการเงินหรือขอสินเชื่อจากแหล่งใด ผู้ประสบภัยพิบัติและประชาชนต้องเพิ่มความรอบคอบมากยิ่งขึ้น โดยนอกจากจะตรวจสอบการมีตัวตนของนิติบุคคลแล้ว ยังต้องตรวจสอบเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการให้บริการด้านการเงินด้วย เช่น ตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อ สามารถค้นหาได้จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตรวจสอบได้ที่ www.bot.or.th ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อฟิโกไฟแนนซ์ ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง และธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมฯ ได้เปิดระบบให้บริการตรวจค้นข้อมูลนิติบุคคล ทางเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th >> DBD DataWarehouse+ และ แอปพลิเคชัน DBD e-Service ผ่านระบบ IOS และ Android เพื่อใช้เป็นตัวช่วยให้ภาคธุรกิจและประชาชนตรวจค้นข้อมูลนิติบุคคลเป็นข้อมูลประกอบพิจารณาการลงทุนและตรวจสอบสถานะความมีตัวตนของนิติบุคคล ซึ่งข้อมูลดังกล่าวถือเป็นส่วนประกอบในการตรวจสอบการมีอยู่ของนิติบุคคลว่ามีการจดทะเบียนฯ กับกรมฯ ตามที่กฎหมายกำหนด หากต้องการทำธุรกรรมทางการเงินต้องตรวจสอบความมีตัวตนและความถูกต้องของธุรกิจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการทำธุรกรรมและป้องกันการหลอกลวงจากมิจฉาชีพอีกด้วย
ทั้งนี้ กรมฯ ขอเตือนผู้ประสบภัยและประชาชนทั่วไปที่จะใช้บริการเงินกู้ โดยเฉพาะผ่านทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ หากตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพแล้วอาจทำให้สูญเสียเวลา เงิน หรือทรัพย์สินที่หามาอย่างยากลำบาก ซ้ำยังอาจถูกหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวไปใช้โจรกรรมทางการเงิน ซึ่งจะสร้างความเสียหายตามมา รวมถึง การปล่อยสินเชื่อที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายอาจมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง และอาจเสี่ยงจากการติดตามหนี้สินที่อยู่นอกกฎหมายอีกด้วย ดังนั้น หากมีความรอบคอบตั้งแต่ต้นและไม่หลงเชื่อคำโฆษณาที่หลอกลวง จะเป็นการปิดประตูความเสี่ยงต่างๆ และปลอดภัยจากการสูญเสียที่อาจประเมินค่าไม่ได้” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย