กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ แจงข้อมูลไทยเป็นแหล่งแร่ลิเทียมใหญ่อันดับ 3 ของโลก เปรียบเทียบคลาดเคลื่อน

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ แจงข้อมูล ไทย เป็นแหล่ง แร่ลิเทียม ใหญ่อันดับ 3 ของโลก เปรียบเทียบคลาดเคลื่อน

กรณีเว็บไซต์รัฐบาลไทย หรือ Royal Thai Government ได้โพสต์เนื้อหาข่าวเกี่ยวกับนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมสำรวจจนพบแหล่งแร่ลิเธียมที่มีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติและแหล่งบางอีตุ้ม ล่าสุด ไทยยังค้นพบแหล่งแร่โซเดียมในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก ซึ่งแร่ทั้งสองชนิดนี้ถือเป็น แร่หลักหรือวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% เสริมศักยภาพความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV ในภูมิภาค

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากปีก่อนหน้าที่เป็นข่าวใหญ่ว่าอินเดียค้นพบแร่ลิเธียม และกลายเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และ EV นั้น ตอนนี้ไทยก็มีลุ้นเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า ไทยสำรวจพบ (Resources) แร่ลิเธียมกว่า 14.8 ล้านตัน (Million Tonne: Mt) ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบแร่ดังกล่าวมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา

เมื่อวานนี้ 19 มกราคม 2567 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ชี้แจงว่า คำว่า Mineral Resource มีความหมายถึงปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า Lithium Resource ซึ่งหมายถึงปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียมของต่างประเทศ จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณแร่ลิเทียมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกได้

สำหรับชนิดของแร่ที่พบในประเทศไทยในขณะนี้เป็นแร่เลพิโดไลต์ (lepidolite) ที่พบในหินเพกมาไทต์ (pegmatite) และมีความสมบูรณ์ของลิเทียมหรือเกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45% ทั้งนี้ แม้จะมีความสมบูรณ์ไม่สูงมาก แต่ก็ถือว่ามีความสมบูรณ์กว่าแหล่งลิเทียมหลายแห่งทั่วโลก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการแต่งแร่ที่ความสมบูรณ์ดังกล่าวได้คุ้มค่า

อีกทั้งแร่ลิเทียมมีความสัมพันธ์กับแหล่งแร่อื่นๆ โดยเฉพาะ คือ ดีบุกและธาตุหายากอื่น ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งดีบุกที่สำคัญในอดีต จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบแหล่งลิเทียมเพิ่มเติมหากมีการสำรวจในอนาคต ปัจจุบันมีผู้ได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจลิเทียมจำนวน 3 แปลง ในพื้นที่จ.พังงา และมีคำขออาชญาบัตรเพื่อสำรวจลิเทียมในพื้นที่จังหวัดอื่นอีก เช่น จ.ราชบุรี และ จ.ยะลา

โดย กพร. จะเร่งรัดให้เกิดการสำรวจลิเทียมและแร่หายากเพิ่มขึ้น ให้ประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานสำหรับการทำเหมืองลิเทียม เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคต่อไป

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles