ในงานปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ พลังงานราคาถูก ทางรอดเศรษฐกิจไทย จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” วันนี้ (6 พ.ย.) นายประเสิริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวว่าปัจจุบันความต้องการ ไฟฟ้า ในประเทศไทยยังมีทิศทางที่เติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ที่มีการดึงเอาบริษัทเอกชนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมากโดยในปี 2567 ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามีการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามายังประเทศไทยมากถึง 889 โครงการเพิ่มขึ้น 83% จากปีก่อน และมูลค่าการลงทุนรวม 3.25 แสนล้านบาทสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16% โดยอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุดคืออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งที่จะมีการลงทุนในคลาวด์และดาต้าเซนเตอร์ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ซึ่งนอกจากต้องการไฟฟ้าที่มีความเสถียรยังต้องการไฟฟ้าสะอาดที่มาจากแหล่งพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความต้องการไฟฟ้าสูงขึ้นเรื่อยๆสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้า และมีความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดมากขึ้นที่ผ่านมากระทรวงพลังงานจึงมีการทำตามนโยยายที่มีการเปิดขายไฟฟ้าทั้งในส่วนของ UTG และ Direct PPA ซึ่งที่ลูกค้าที่ต้องการใช้มากโดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับทราบว่าขายพื้นที่ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมดีมาก เมื่อกำลังการผลิตเพิ่มการมีพลังงานส่วนนี้ไว้รองรับการลงทุนใหม่ๆด้วย โดยที่ผ่านมาไทยมีนโยบายในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 26% หรือคิดเป็นประมาณ 15,000 – 16,000 เมกะวัตต์ซึ่งก็ถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากกว่าอีกหลายประเทศ แต่ประเทศไทยก็มีแผนที่จะลดสัดส่วนการใช้พลงังานฟอสซิลและการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ โดยในปี 2580 ไทยเราตั้งเป้าไว้ว่าจะใช้พลังงานสะอาดให้ได้ 51% รวมทั้งจะมีการลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติจาก 59.9% ในปัจจุบันมาอยู่ที่ไม่เกิน 41%
ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวด้วยว่า ราคาพลังงานนอกจากราคาถูกเราต้องดูเรื่องของราคาที่เหมาะสม และความมั่นคงของพลังงานควบคู่กันไปด้วย เพราะในบางประเทศที่เน้นเรื่องค่าไฟราคาถูกนั้นพบว่าไฟฟ้ายังไม่เสถียร ติดๆดับๆซึ่งของประเทศไทยเราใช้เกณฑ์ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าเรียกว่า “LOLE” ซึ่งเป็นดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ ซึ่งของประเทศไทยเราใช้เกณฑ์ LOLE ที่ 0.7 วันต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขภาพรวมของทั้งประเทศหากไม่เกิดเกณฑ์นี้ก็ถือว่าการผลิตและการจ่ายไฟฟ้าของประเทศไทยนั้นมีความมั่นคง