นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร เป็นประธานการประชุมคณะทำงานติดตามแก้ไขปัญหาการส่งออกทุเรียนย้อมสีไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ 4/2568 ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามมาตรการควบคุมการปนเปื้อนสารห้ามใช้ในทุเรียนผลสดส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดจนติดตามกระบวนการอายัดทุเรียนส่งออกที่ตรวจพบสารปนเปื้อนแคดเมียม และ BY2 และเตรียมแผนรับมือผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
พร้อมกันนี้ ยังได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร จัดทำคู่มือปฏิบัติงานเพื่อใช้เป็นแนวทางเดียวกันให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาว และมาตรการรองรับอื่นๆ ควบคู่กันไป โดยต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวดและตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดส่งออกต่อไป
ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกทุเรียนไทยไปจีนอยู่ที่ 4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2567 ลดลง 12% เมื่อเทียบกับปีก่อน สวนทางกับภาพรวมการนำเข้าทุเรียนของจีนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.1% และปริมาณนำเข้าพุ่งขึ้น 9.4% แตะ 15.6 ล้านตัน
หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า ปัญหาสำคัญของทุเรียนไทยมาจากคุณภาพผลผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกอย่างรวดเร็วในสวนอุตสาหกรรม ประกอบกับสภาพอากาศร้อนจัดทำให้ผลผลิตลดลง ขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนามกลับทำผลงานโดดเด่น
นอกจากนี้ ไทยยังเผชิญอุปสรรคจากการที่จีนเข้มงวดมาตรฐานการนำเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะการสั่งตรวจสอบสาร Basic Yellow 2 หลังพบการปนเปื้อนในทุเรียนจากไทยช่วงปลายปีที่แล้ว การเปลี่ยนมาตรฐานกะทันหันทำให้ผู้ส่งออกไทยและเวียดนามปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้การส่งออกล่าช้าและถูกปฏิเสธสินค้า
เวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีนพุ่ง 37.56% แตะ 2.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2567 ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจาก 33% เป็น 41.5% สร้างแรงกดดันให้ผู้ส่งออกไทยต้องเร่งปรับตัว
ขณะเดียวกัน ไทยยังต้องระวังคู่แข่งอย่างมาเลเซียที่เพิ่งได้ไฟเขียวส่งออกทุเรียนสดไปจีนเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว แม้จะมียอดส่งออกเพียง 5.7 ล้านดอลลาร์ แต่ทุเรียนมาเลเซียถูกจัดอยู่ในระดับพรีเมียม ราคาสูงกว่าคู่แข่งในภูมิภาค