เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน น.ส.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีต่อนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นการสำรวจครั้งที่ 2 หลังครั้งแรกสำรวจเมื่อเดือนตุลาคม 2566 เพื่อเจาะลึกความคิดเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถึงความพร้อม ความสนใจเข้าร่วมโครงการ และแผนการใช้จ่ายเงินดิจิทัล ครั้งนี้ได้สอบถามผู้ประกอบการ 2,704 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 19-30 เมษายน 2567
พบว่าสนใจเข้าร่วมโครงการร้อยละ 75.2 ลดลงจากครั้งก่อนมีมากถึงร้อยละ 82.9 สาเหตุกังวลเรื่องการใช้สิทธิและการเบิกจ่ายเงิน เงื่อนไขของโครงการให้ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่สามารถเข้าร่วมได้ ทำให้ธุรกิจรายเล็กมีความกังวลต่อยอดผู้จะมาใช้บริการ และบางกลุ่มธุรกิจประเมินว่าธุรกิจของตนไม่เหมาะกับโครงการ รวมถึงขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ เครื่องมือหรือทักษะความรู้ในการใช้งานซุปเปอร์แอพพ์ ใช้ซื้อสินค้ามากกว่าลงทุน
น.ส.ปณิตา กล่าวว่า สำหรับแผนการใช้จ่ายเงินดิจิทัลพบว่า ผู้ประกอบการมีแผนการใช้จ่ายเงินปรับเปลี่ยนไปเมื่อเทียบจากผลสำรวจครั้งก่อน ร้อยละ 77 จะนำเงินไปใช้จ่ายในหมวดสินค้าในชีวิตประจำวัน และร้อยละ 22.7 มีแผนนำเงินไปลงทุนต่อยอดทางธุรกิจ ขณะที่ครั้งก่อนพบว่าจะนำเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 69.6 และร้อยละ 30.4 จะนำไปลงทุนในธุรกิจ ส่วนเงื่อนไขของโครงการที่กำหนดต้องใช้ในร้านค้าขนาดเล็กก่อน 2 รอบ ถึงเบิกเป็นเงินสดได้ ผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการร้อยละ 54.4 สนใจเข้าร่วมโครงการมีแผนการนำเงินดิจิทัลไปใช้จ่ายสินค้าในครัวเรือนมากที่สุดสำหรับการใช้จ่ายเงินรอบที่ 1 แต่สำหรับการใช้จ่ายครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่ต้องการเบิกถอนเป็นเงินสดออกมา เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและนำเงินไปต่อยอดในการทำธุรกิจ
น.ส.ปณิตากล่าวว่า ผลสำรวจยังระบุว่าผู้ประกอบการยังมีความกังวลด้านระบบและขั้นตอนรองรับ รวมถึงเสถียรภาพการใช้งานในแอปพลิเคชั่นใหม่มากที่สุด รองลงมาเงื่อนไขและการใช้สิทธิ เนื่องจากกลุ่มธุรกิจรายเล็กและธุรกิจขนาดย่อมกังวลไม่มีร้านค้าในพื้นที่ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไปใช้จ่ายร้านสะดวกซื้อรายย่อย เช่น 7-11 และกลัวโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง
“ด้านข้อเสนอแนะต้องการให้ปรับรูปแบบการเบิกจ่ายเป็นเงินสด เพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจของตนเอง เช่น ร้านอาหารต้องการหมุนเงินแบบวันต่อวัน เป็นต้น รองลงมาอยากให้ใช้สิทธิในแอปพลิเคชันเป๋าตังเหมือนเดิม เพราะกังวลการเรียนรู้การใช้งานซุปเปอร์แอป เสนอให้ลดเงื่อนไขจำกัดพื้นที่การใช้งาน ให้ใช้งานได้ทั่วประเทศ เพราะผู้ประกอบการต้องการความหลากหลายของสินค้าที่ให้บริการ จึงมีความต้องการซื้อสินค้า วัตถุดิบจากตลาด ร้านค้าภายในและนอกอำเภอ” น.ส.ปณิตากล่าว