Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม สู่ระดับ 1.50% ภายในปี 2568 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ โดยมองว่าช่วงเวลาของการตัดสินนโยบายครั้งต่อไป กนง. จะพิจารณาจากพัฒนาการของการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ หลังพ้นกรอบระยะเวลายกเว้นการเก็บภาษี 90 วัน และพัฒนาการของเศรษฐกิจไทย เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดจาก policy space ที่มีจำกัด
หากการประชุม กนง. ครั้งต่อไปในช่วงปลายเดือน มิ.ย. นี้ ตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง จะเป็นการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 เช่นเดียวกับในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินโลก (Global Financial Crisis) หรือ GFC ในปี 2551 (ค.ศ. 2008) และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ในระยะข้างหน้า ต้องติดตามช่วงเวลาและขนาดของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท หลังแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีทิศทางต่ำลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนจากผลกระทบการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า ที่อาจส่งผลให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นอีกครั้ง
ขณะที่ค่าเงินบาทในช่วงตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 67 มีทิศทางแข็งค่าสูงกว่าประเทศในภูมิภาค เป็นรองแค่เพียงญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 68 ที่ประชุม กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาเหลือ 1.75% ต่อปี โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องจากการประชุมเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 68 เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่ง กนง. ประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็น 2 ฉากทัศน์ (Scenario) โดย Reference Scenario (Lower Tariffs) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 68 จะขยายตัวที่ 2.0% ขณะที่ Alternative Scenario (Higher Tariffs) เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเพียง 1.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป กนง. มองว่ามีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย (1-3%) จากราคาพลังงานที่คาดว่าจะต่ำลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก