นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 แม้จะมีแรงหนุนในภาคบริการจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง ภาคการส่งออกที่เห็นสัญญาณฟื้นตัว และแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เริ่มกลับมาเร่งตัวขึ้นหลัง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ แต่ภาพรวมยังคงเปราะบางและมีปัจจัยกดดันในหลายด้าน โดยเฉพาะภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวในระดับต่ำ จากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชะลอตัวจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศหดตัวลงอย่างรุนแรงจากกำลังซื้อที่ถดถอย รวมถึงคุณภาพหนี้สินที่มีแนวโน้มด้อยลง
ทั้งนี้ ครึ่งแรกของปี 2567 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 3,482 ล้านบาท ลดลง 4.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะงวดไตรมาส 2/2567 มีกำไรสุทธิ 1,749 ล้านบาท ลดลง 5.7% จากไตรมาส 2 ของปีก่อนหน้า สาเหตุหลักจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านคุณภาพสินทรัพย์ ขณะที่ต้นทุนทางการเงินปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ยังได้แรงหนุนจากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อจำนำทะเบียนผ่านการขยายสาขาสมหวัง เงินสั่งได้ ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากกำไรจากเงินลงทุน ขณะที่ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักชะลอตัวลงตามภาวะตลาดทุนที่ผันผวน และธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ซบเซา
ในช่วงที่เหลือของปีนี้ กลุ่มทิสโก้ จะเน้นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเติบโตอย่างยั่งยืน วางกลยุทธ์ ESG in Action ยกระดับความเป็นอยู่และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคม รวมถึงการให้คำปรึกษาเรื่องการรวมหนี้เพื่อช่วยให้ลูกค้ามีภาระดอกเบี้ยที่ลดลง พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางในเชิงรุกผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นต้น
โดยผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้สำหรับไตรมาส 2 ปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,749 ล้านบาท ลดลง 5.7% จากไตรมาส 2 ปี 2566 สาเหตุหลักมาจากสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) ที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้รวมจากการดำเนินงานเติบโต 5.5% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการรับรู้กำไรจากเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจจากการเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 0.9% ตามสินเชื่อที่เติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีก่อนหน้า ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาด ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุนฟื้นตัวเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหลักทรัพย์ยังคงซบเซา เป็นไปตามมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่หดตัว ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวลดลงจากค่าใช้จ่ายพนักงานและค่าใช้จ่ายทางการตลาด
สำหรับผลประกอบการงวดครึ่งปีแรกของปี 2567 กำไรสุทธิมีจำนวน 3,482 ล้านบาท ลดลง 4.5% จากครึ่งปีแรกของปี 2566 เนื่องมาจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) ที่เพิ่มขึ้น ด้านรายได้รวมจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 3.8% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ขยายตัว 3.1% ตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ ประกอบกับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับตัวดีขึ้น 5.5% จากกำไรจากเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจ ขณะที่ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์อ่อนตัวลง จากธุรกิจนายหน้าประกันภัย ตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ชะลอตัว อีกทั้ง ค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ปรับลดลงตามมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ซบเซา ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2567 อยู่ที่ 16.6%
เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 มีจำนวน 233,448 ล้านบาท ลดลง 0.6% จากสิ้นปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของสินเชื่อเช่าซื้อ สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ในประเทศที่หดตัวลง ในขณะที่สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อ SME และสินเชื่อจำนำทะเบียนยังคงขยายตัว แต่เติบโตในอัตราที่ช้าลง โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัทเพิ่มความระมัดระวังและรอบคอบในการปล่อยสินเชื่อใหม่ท่ามกลางสภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ สิ้นไตรมาสนี้ อยู่ที่ 2.4% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากการขยายสินเชื่อไปในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูง และผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า โดยบริษัทมุ่งเน้นการติดตามทวงถามหนี้อย่างใกล้ชิด รวมถึงดำเนินนโยบายการบริหารความเสี่ยงและตั้งสำรองอย่างรัดกุม และมีระดับค่าเผื่อสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 162.7%
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 20.6% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.6% และ 2.0% ตามลำดับ