นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการกสทช. เปิดเผยว่า ขณะนี้กรรมการกสทช.ได้อนุมัติกรอบวงเงินที่จะนำมาหักลดหย่อนรายได้ที่ต้องจัดสรรเพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) จากการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินฯ เฉพาะเงินสนับสนุนระบบ Cell Broadcast Center (CBC), Core Network, Radio Network และค่าบำรุงรักษาระบบ จำนวน 3 ปี ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด มีเหลือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารอ NT ส่งข้อมูลมาเพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ทดสอบระบบเตรียมความพร้อมแล้ว และพร้อมเชื่อมกับระบบสั่งการของรัฐบาลที่จะเป็นผู้แจ้งเตือนภัยผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
นอกจากนี้ ยังเตรียมทดสอบระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน Emergency Warning System (EWS) สำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ซึ่งได้พัฒนาระบบแจ้งเตือนเหตุ เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องรายการทีวีดิจิทัล โดยเตรียมเสนอให้ กสทช. พิจารณาอนุญาตและส่งเสริมให้เกิดการใช้งานโดยเร็ว
ก่อนหน้านี้ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช.เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 ได้อนุมัติกรอบวงเงิน การจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เฉพาะเงินสนับสนุนระบบ Cell Broadcast Center (CBC) Core Network Radio Network และค่าบำรุงรักษาระบบ (MA) ให้กับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส, บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT จำนวน 3 ปี รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,030 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตวงเงินที่ทาง NT ขอมาราว 200 ล้านบาทว่าอาจสูงเกินไปกับฐานลูกค้าที่มี จึงให้ไปทำตัวเลขมาใหม่” โดยวงเงินที่อนุมัติให้กับเอไอเอสและทรู แต่ละรายมีจำนวน 374 ล้านบาท เป็นการลดหย่อนจากเงินที่เอไอเอสและทรูจะต้องนำส่งเพื่อสมทบกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ในแต่ละปี โดยให้ลดหย่อนได้ไม่เกินปีละ 200 ล้านบาท