กสิกรฯชี้ สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าสุดรอบ 7 เดือน ขณะสัปดาห์นี้มองกรอบเคลื่อนไหว 32.80-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ลุ้นทิศทางนโยบายเฟด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  เงินบาท แข็งค่าผ่านแนว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 7 เดือนที่ 32.56 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก สถานะของเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทย และแรงหนุนต่อค่าเงินเอเชียในภาพรวมตามการคาดหวังว่า การเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ น่าจะมีสัญญาณเชิงบวกในช่วงข้างหน้า

อย่างไรก็ดี เงินบาททยอยล้างช่วงบวกและอ่อนค่ากลับมาตามทิศทางของสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชีย และเงินหยวนที่มีปัจจัยลบจากการที่ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยและ RRR ลงเพื่อประคองทิศทางเศรษฐกิจจีนที่เผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้า ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้น หลังการประชุมเฟดซึ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ไว้ที่กรอบเดิม 4.25-4.50% ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากการสรุปดีลการค้าเบื้องต้นระหว่างสหรัฐฯ และอังกฤษ และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ออกมาดีกว่าที่คาด

ในวันศุกร์ที่ 9 พ.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 พ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 6-9 พ.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 917 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 10,582 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 11,082 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 500 ล้านบาท)

ส่วนเช้าวันอังคารที่ 13 พ.ค. 2568 เงินบาทอ่อนค่ากลับมาปรับตัวที่ 33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.00 น.) รับข่าวที่สหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงปรับลดอัตราภาษีศุลกากรฝ่ายละ 115% เป็นเวลา 90 วัน

สำหรับในสัปดาห์นี้ ( 12-16 พ.ค.68)  ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 32.80-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ราคาทองคำในตลาดโลก ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือนเม.ย. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและฟิลาเดลเฟีย ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. ตลอดจนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/2568 ของยูโรโซน อังกฤษและญี่ปุ่นเช่นกัน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles