กสิกรฯ มองตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 1,330-1,375 จุด จับตาปัจจัยสำคัญผลการประชุมเฟด ผลประกอบการ บจ.ไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี หุ้นไทย แกว่งตัวกรอบแคบในช่วงแรก ก่อนจะดีดตัวขึ้นจนถึงช่วงกลางสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ หลังท่าทีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้แข็งกร้าวอย่างที่ตลาดกังวล ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากแรงซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์หลังงบไตรมาส 4/2567 ออกมาค่อนข้างดี รวมถึงแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีตามทิศทางการปรับขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงในเวลาต่อมาท่ามกลางแรงขายทำกำไรของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ หลังตอบรับปัจจัยบวกข้างต้นไปพอสมควรแล้ว โดยหุ้นกลุ่มที่เผชิญแรงขายทำกำไรหลัก ๆ ได้แก่ กลุ่มแบงก์ที่ประกาศผลประกอบการเสร็จสิ้นไปแล้ว และกลุ่มพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลง ดัชนีหุ้นไทยขยับขึ้นอีกครั้งช่วงท้ายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะกดดันให้มีการปรับลดดอกเบี้ยทันที พร้อมเรียกร้องให้มีการปรับลดดอกเบี้ยทั่วโลก

ในวันศุกร์ที่ 24 ม.ค. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,354.07 จุด เพิ่มขึ้น 1.00% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 34,664.20 ล้านบาท ลดลง 21.84% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 4.07% มาปิดที่ระดับ 286.79 จุด

สำหรับสัปดาห์นี้ (27-31 ม.ค. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,345 และ 1,330 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,360 และ 1,375 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมเฟด (28-29 ม.ค.) ผลประกอบการไตรมาส 4/2567 ของบจ.ไทย นโยบายของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ของสหรัฐฯ และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล ดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนธ.ค. 2567 ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2567 ของยูโรโซน การประชุม ECB ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนม.ค. 2568 และกำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. 2567 ของจีน ตลอดจนยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. 2567 ของญี่ปุ่น

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles