ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้น-กลางสัปดาห์สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค (สกุลเงินเอเชียอื่นๆ อ่อนค่าลงสอดคล้องกับเงินหยวนและเงินเยน ขณะที่ เงินรูเปียห์แตะระดับอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่มิ.ย. 2541) ท่ามกลางแรงหนุนต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ฯ จากสัญญาณไม่รีบปรับลดดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยลบจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน
เงินบาทฟื้นตัวขึ้นช่วงสั้น ๆ ระหว่างสัปดาห์ โดยมีอานิสงส์สำคัญจากการทะยานกลับมาทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของราคาทองคำในตลาดโลก แต่กลับไปอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงท้ายสัปดาห์ตามแรงขายสุทธิหุ้นไทยของต่างชาติ (ประกอบกับตลาดหุ้นไทยภาคบ่ายปิดการซื้อขาย หลังแผ่นดินไหวรุนแรง)
ในวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (21 มี.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 24-28 มี.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,106.21 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 1,845 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 1,701 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 144 ล้านบาท)
สัปดาห์ระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-4 เม.ย. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.30-34.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายละเอียดของการเรียกเก็บ Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก สัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค. ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี ISM และ PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนมี.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.พ. รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลดัชนี PMI เดือนมี.ค. ของจีน ญี่ปุ่น ยูโรโซนและอังกฤษ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน