ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองเรื่องค่าเงินบาทในปี 68 ว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ ทั้งในประเด็นของรายละเอียด ความเข้มข้มของมาตรการ และจังหวะเวลาที่มาตรการต่าง ๆ จะมีผล อย่างไรก็ดี คาดว่าภาพต่าง ๆ คงจะทยอยชัดเจนขึ้นหลังผ่านพ้นช่วง 100 วันแรก และทีมเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ทยอยเดินหน้าเจรจากับประเทศคู่ค้า และอาจส่งผลทำให้สัญญาณของความขัดแย้งในประเด็นด้านการค้า โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความตึงเครียดมากขึ้น
ปัจจัยดังกล่าว ไม่เพียงจะมีผลต่อค่าเงินหยวน และสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย แต่ยังน่าจะมีผลต่อแนวโน้มการส่งออก และจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบผันผวน และมีแนวโน้มอ่อนค่าไปที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นปี 68 (คาดการณ์โดยธนาคารกสิกรไทย) อย่างไรก็ดี ต้องติดตามท่าทีของทรัมป์ที่ต้องการให้เงินดอลลาร์ฯ ขยับอ่อนค่าลง ซึ่งอาจสร้างความสับสนกดดันเงินดอลลาร์ฯ และเพิ่มความผันผวนให้กับตลาดด้วยเช่นกัน
3 ปัจจัยสำคัญต้องติดตามที่อาจทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่า ได้แก่
1. ผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ ที่อาจมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ขยับสูงขึ้น ย่อมจะมีผลต่อมุมมองและจังหวะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด โดยยิ่งความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เฟดต้องระมัดระวังมากขึ้นในการพิจารณาจังหวะเวลาของการปรับลดดอกเบี้ย
นอกจากนี้ แนวโน้มการกลับมาปรับเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีน (และอีกหลาย ๆ ประเทศ) อาจส่งผลกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่าลงในลักษณะที่คล้ายกับที่เห็นในรอบการปรับขึ้นภาษีนำเข้าในสมัยแรกที่ทรัมป์เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
2. แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน นอกเหนือไปจากผลกระทบของนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์แล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ผลทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมีความเปราะบาง และอาจต้องเลื่อนเวลาออกไป โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความเปราะบางของภาคอสังหาริมทรัพย์ และสัญญาณอ่อนแอของการใช้จ่ายในประเทศ
โดยปัจจัยดังกล่าว ทำให้ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางจีนอาจจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก (ซึ่งบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีของจีนปรับตัวรับมุมมองดังกล่าวด้วยการร่วงลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นปี 68) และมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นเงินหยวนอ่อนค่าลงอีกในระหว่างปี และอาจเพิ่มแรงกดดันด้านอ่อนค่าให้กับค่าเงินบาท (ทั้งนี้ ค่า Correlation ระหว่าง USD/THB และ USD/CNY อยู่ที่ระดับประมาณ 0.70 ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนว่าค่าเงินบาทและค่าเงินหยวนมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวไปในทางเดียวกันค่อนข้างมาก)
3. ปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอของเศรษฐกิจไทย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 68 อาจเติบโตที่ 2.4% ช้าลงกว่าปี 67 เล็กน้อย ขณะที่ความเสี่ยงต่อจังหวะการฟื้นตัวที่ล่าช้าของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน และอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจของต่างประเทศ ทำให้ยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลงเพิ่มเติม หลังจากที่มีการปรับลดไปแล้วในรอบการประชุมเดือนต.ค. 67 ที่ผ่านมา
เงินบาทในปี 67 กรอบระหว่างปีกว้างขึ้นสะท้อนความผันผวน โดยเงินบาทปิดตลาดสิ้นปีที่ระดับ 34.11 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงระดับปิดสิ้นปี 66 ที่ 34.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ หากมองในมิติของระดับปิดสิ้นปี อาจดูเหมือนว่า ค่าเงินบาทไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในทางกลับกันหากมองจากกรอบการเคลื่อนไหวระหว่างปีคงต้องยอมรับว่า เงินบาทปี 67 แกว่งตัวในกรอบที่กว้างกว่าปี 66
จากสถิติรายวันของอัตราแลกเปลี่ยน พบว่า ความแตกต่างระหว่างจุดที่แข็งค่าสุดของปี 67 (32.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ) และจุดที่อ่อนค่าสุดของปี 67 (37.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ) มีช่วงห่างกันประมาณ 5.03 บาท มากกว่าช่วงห่าง 4.67 บาทในปี 66 ซึ่งในด้านหนึ่งสะท้อนถึงความผันผวนของค่าเงินที่เพิ่มขึ้น
โดยเงินบาทเปลี่ยนทิศในระหว่างปี 67 แม้จะมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทในปี 67 แต่หนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญค่อนข้างมาก คือมุมมองต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งเฟดมีการปรับเปลี่ยนจากสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน เพื่อดูแลเงินเฟ้อในช่วงต้นปี มาเป็นการยอมรับว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดที่พีคมาแล้ว ก่อนที่จะส่งสัญญาณเข้าสู่วงจรการลดดอกเบี้ยในช่วงปลายไตรมาส 3/67
ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าว สะท้อนผ่านภาพการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ขยับอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งปีแรก แต่ก็พลิกกลับมาแข็งค่าในช่วงไตรมาส 3/67 และกลับไปอ่อนค่าอีกครั้ง โดยเฉพาะช่วงหลังชัยชนะของทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ