ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ (21-25 ก.ค.68) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.30-32.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับการเจรจาการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า (รวมถึงไทย) การเสนอชื่อผู้ว่าการธปท. คนถัดไปต่อ ครม. ตัวเลขการส่งออกเดือนมิ.ย. ของไทย ฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ และทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิ.ย. ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือนก.ค. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามท่าทีต่อทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ของประธานเฟดและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด การประกาศดอกเบี้ย LPR ของจีน ผลการประชุม ECB และข้อมูล PMI (เบื้องต้น) สำหรับเดือนก.ค. ของอังกฤษ ยูโรโซนและญี่ปุ่น
โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ ก่อนจะพลิกอ่อนค่าลงในเวลาต่อมา สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ขยับแข็งค่าขึ้น หลังจากที่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือนมิ.ย. ออกมาสูงกว่าที่คาด [CPI Inflation +2.7% YoY ในเดือนมิ.ย. สูงกว่าตลาดคาดที่ +2.6% YoY และสูงกว่า +2.4% YoY ในเดือนพ.ค.] ซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่า เฟดอาจต้องระมัดระวังมากขึ้นในการประเมินจังหวะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะถัด ๆ ไป นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงประคองต่อเนื่อง หลังจากปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมากล่าวปฏิเสธข่าวการเตรียมพิจารณาปลดนายเจอโรม พาวเวล ออกจากตำแหน่งประธานเฟด
อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาพลิกแข็งค่าผ่านแนว 32.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงท้ายสัปดาห์ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกและการแข็งค่าของเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ ขณะที่แรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลง หลังตอบรับปัจจัยบวกจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ยอดค้าปลีกและตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ไปมากแล้ว
ในวันศุกร์ที่ 18 ก.ค. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 32.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.51 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 ก.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 14-18 ก.ค. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 4,595 ล้านบาท แต่ยังคงขายสุทธิพันธบัตรไทยต่อเนื่องอยู่เล็กน้อยที่ 625.7 ล้านบาท