ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชั่นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกอ่อนค่าลงทะลุระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนที่ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงขายสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย รวมถึงเงินเยนและเงินหยวนของจีน ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องสอดคล้องกับบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ รับผลการเลือกตั้งซึ่งสะท้อนว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับชัยชนะและเตรียมที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติและการปรับตัวลงมาของราคาทองคำในตลาดโลกด้วยเช่นกัน
เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามแรงขายทำกำไร (จากที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากในช่วงก่อนหน้านี้ รับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ) ประกอบกับน่าจะมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐ หลังจากที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่กรอบ 4.50-4.75% ในการประชุมรอบล่าสุด 6-7 พ.ย. ที่ผ่านมา
ในวันศุกร์ที่ 8 พ.ย. 2567 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 พ.ย. 67) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 4-8 พ.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 3,641 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 24,489 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 23,687 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 802 ล้านบาท)
สัปดาห์ระหว่างวันที่ 11-15 พ.ย. ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.00-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ โดยเฉพาะค่าเงินหยวน รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือน ต.ค. ของจีน และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 ของอังกฤษด้วยเช่นกัน