นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยจัดประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาค ภายใต้ธีม Connect the Dots เมื่อวันที่ 11-13 พ.ค. ซึ่งการประชุมหอการค้า 5 ภาค ถือเป็นเวทีหนึ่งที่สำคัญของหอการค้าไทยในการระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และทบทวนแผนงานเศรษฐกิจภาคเอกชนจากของหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ซึ่งหอการค้าฯ จะเร่งนำไปผลักดันโดยตรงกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทันที เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ละภูมิภาค
นอกจากนี้ หอการค้าฯ อยากเร่งรัดกับรัฐบาลขับเคลื่อนโครงการยกระดับ 10 จังหวัดสู่เมืองหลักที่ได้มีการประกาศเดินหน้าไปแล้ว เชื่อว่าจะช่วยให้เกิดการสร้างโอกาสและขยายความเจริญไปยังจังหวัดใหม่ที่มีศักยภาพ ทั้งการท่องเที่ยว การค้า การค้าชายแดน รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ
โดยทั้ง 10 จังหวัดนั้น หอการค้าฯ ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย Kick off โครงการที่จังหวัดนครพนมไปแล้ว และมีแผนจะลงจังหวัดที่เหลือต่อไป คือ ลําปาง ราชบุรี นครศรีธรรมราช ตรัง ศรีสะเกษ นครสวรรค์ จันทบุรี และกาญจนบุรีตลอดจนการเร่งเดินหน้าโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC อย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ และ Talent จากทั่วโลกให้เข้ามาช่วยเสริมการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้เต็มศักภาพต่อไป
สำหรับผลสรุปแผนยุทธศาสตร์ 5 ภาคที่สำคัญ ประกอบด้วย ภาคกลาง กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจภาคกลาง 3 ด้าน ได้แก่ 1. ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและศูนย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Hub and Wellness) 2.ยกระดับอุตสาหกรรมทุกมิติ เชื่อมโยงกับ Food Valley และ Innovation Hub 3. ศูนย์กลางโลจิสติกส์เชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ
ภาคเหนือ วางแผนจะผลักดันการส่งเสริมพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC-Creative LANNA) ด้วยแนวคิด BCG Economy ผลักดันกฏหมาย ปลดล็อคพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสีเขียวและศูนย์กลางโลจิสติกส์ โครงการสนามบินพิษณุโลกสู่สนามบินนานาชาติเชื่อมโยงการท่องเที่ยวสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจด้วยการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลของผู้ประกอบการ SMEs และ Digital Startup
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เร่งยกระดับเศรษฐกิจ มุ่งสู่ความยั่งยืน” (Competitive Isan) ให้เป็นดินแดนแห่งการเชื่อมโยงและรุ่งเรืองในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS ผ่าน 4 แผนยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ 1.Trade & Travel เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชายแดนติดกับ สปป. ลาว 2.Agriculture & Food ส่งเสริมการขยายผลโครงการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูงนำร่อง 8 จังหวัดอีสานกลาง–ล่าง 3. Travel & Service ชูการท่องเที่ยวสายมูภาคอีสาน เป็น Soft Power ของประเทศ รวมถึงเตรียมความพร้อมในการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดอุดรธานีในปี 2569และ 4. เร่งรัดแผนบริหารจัดการแหล่งน้ำ “โขง–เลย–ชี–มูล” แก้ปัญหาน้ำท่วม–น้ำแล้งซ้ำซาก
ภาคตะวันออก มีแผนเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินภายในปี 2571 โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ภายในปี 2571 โครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาภายในปี 2571 และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ภายในปี 2570
นอกจากนั้น ยังมุ่งผลักดันการขยายพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC+2) โดยเสนอให้เพิ่มจังหวัดปราจีนบุรีเป็นอีกหนึ่งจังหวัดใน EEC หลังจากที่ประกาศให้จังหวัดจันทบุรี (EEC + 1) การปรับใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับบริบทไทยและตลาดในภูมิภาค การร่วมวิจัยในระดับนานาชาติระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชนท้องถิ่น และเร่งการลงทุนด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษาของไทย โดยตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบการศึกษาและหลักสูตรการศึกษาอย่างเร่งด่วน เพื่อผลิตและพัฒนาทักษะกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เป็นต้น
ภาคใต้ วางแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจใต้ 4 เรื่องสำคัญ 1 ผลักดันการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง จ.ระนอง ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ 2. โครงการสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติอันดามัน จังหวัดภูเก็ต เป็นศูนย์กลางแสดงสินค้า เจรจา แลกเปลี่ยนธุรกิจการค้าการลงทุน 3.โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทย เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเรือสำราญภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา 4. โครงการพัฒนาการเชื่อมโยงโลจิสติกส์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน รองรับการเป็นศูนย์กลางสินค้าฮาลาลสู่ตลาดโลกที่เป็นการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนเชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซียทั้งนี้ สำหรับแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาค 5 ภาค
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในชณะนี้หลายภาคส่วนมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 67 โตไม่ถึง 3% หากย้อนกลับไปดูตัวเลขตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะขาลงมาโดยตลอด อย่างไรก็ดีวันนี้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นจากภาวะวิกฤตโควิด-19 แล้ว โดยฟื้นขึ้นจากสัญญาณของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ดี แต่ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นไม่มาก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีปัญหาต่อเนื่องและการใช้จ่ายของภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายประจำปีและรายจ่ายลงทุน วันนี้มองว่าหากงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้รับการใช้จ่ายแล้ว ช่วงเดือนสิงหาคมเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตได้ดี หากไม่มีปัจจัยลบจากสงครามระหว่างประเทศ แต่ระยะยาวยังไม่มีความแน่นอนมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงปรับลดจีดีพีลงเหลือ 2.6% ในปีนี้
สำหรับแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาค 5 ภาค จากการประชุมฯ ภาคเอกชนจะนำกลับไปผลักดันและขับเคลื่อนต่อกับหน่วนงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอความคืบหน้าของแผนงานแต่ละภาคในช่วงปลายปีที่จะมีการจัดงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 42 ณ จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2567