ซีเอ็นบีซี ซึ่งเป็นสำนักข่าวด้านเศรษฐกิจการเงิน และการลงทุนชื่อดังระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา รายงานการวิเคราะห์จากสถาบันการเงิน และนักวิชาการที่เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศกับความขัดแย้งครั้งรุนแรงในรอบ 14 ปี ระหว่างกัมพูชากับไทยที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ
นางสาวศรีปาร์นา แบเนอร์จี นักวิจัยจากสถาบันออบเสิร์ฟเวอร์ รีเสิร์ช ฟาวเดชั่น(Observer Research Foundation) เปิดเผยว่า ความไม่สงบในช่วงระยะสั้นทำให้นานาชาติประกาศคำเตือนการเดินทาง และฉุดความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอันตรายในปีที่ประเทศไทยคาดหวังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสัดส่วนการท่องเที่ยวในภาพรวมเศรษฐกิจของกัมพูชาจะน้อยกว่า แต่อาจทำให้หลายฝ่ายเข้าใจผิด หากคิดว่ากัมพูชาจะได้รับผลกระทบด้านท่องเที่ยวน้อยกว่าไทย เนื่องจากกัมพูชามีเครื่องมือเชิงนโยบายการท่องเที่ยวน้อยกว่ามาก เช่น หน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยว งบสำรองทางการคลัง หรือระบบสวัสดิการที่แข็งแกร่ง
โอกาสที่สถานการณ์จะขยายวงเป็นสงครามเต็มรูปแบบนั้นมีไม่มาก เนื่องจากทั้งไทยและกัมพูชามีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจและการเมือง จึงหลีกเลี่ยงการปะทะต่อเนื่องในระยะยาว อย่างไรก็ตาม แม้ประวัติศาสตร์จะชี้ว่าทั้งสองฝ่ายมักยุติความขัดแย้งในที่สุด แต่สภาพแวดล้อมในภูมิภาคขณะนี้ โดยเฉพาะสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ และวิกฤตในประเทศเมียนมา อาจทำให้การคลี่คลายสถานการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
นายโจชัวร์ เคอร์แลนท์ซิค นักวิจัยอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (CFR) เปิดเผยว่า ผลกระทบต่อประเทศไทยจะมีน้อยมาก พื้นที่ท่องเที่ยวหลักอย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ อยู่ไกลจากพื้นที่ชายแดนที่มีการปะทะรุนแรง ข้อมูลของเดอะ แวเคชั่นเนอร์ (The Vacationer) ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ระบุว่า กรุงเทพและภูเก็ตสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวมากที่สุดในปี 2024 กรุงเทพอยู่ห่างจากชายแดนกว่า 260 กม. และภูเก็ตอยู่ห่างไกลกว่า และอยู่คนละภาคกับบริเวณจุดขัดแย้ง ประเทศกัมพูชาจะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะนอกจากจะถูกมองว่าไม่มั่นคงแล้ว ยังไม่มีฐานนักท่องเที่ยวประจำเทียบเท่ากับไทย
นายเกษม พันธ์รัตนมาลา หัวหน้าฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย(CGS International Securities) เปิดเผยว่า เห็นด้วยว่ากัมพูชาจะได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากมีประชาชนชาวไทยจำนวนมากเดินทางข้ามแดนไปเล่นในคาสิโน ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถข้ามไปได้ เพราะชายแดนปิด ในทางกลับกันจังหวัดชายแดนฝั่งไทยไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวเมืองหลักเมื่อเทียบกับจังหวัด หรือเมืองท่องเที่ยวหลักระดับโลก แม้แต่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยเองด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2024 เศรษฐกิจการท่องเที่ยวมีสัดส่วนต่อจีดีพี 12% ของไทย และมีขนาด 9% ในกัมพูชา ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 35 ล้านคน ขณะที่กัมพูชามีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 6.7 ล้านคน