กูรู ชี้ จีนบุก – เศรษฐกิจแย่ แนะ SMEs คุมต้นทุน  บริหารความเสี่ยง ไม่สร้างหนี้เกินความจำเป็น 

ความท้าทายที่ SMEs ต้องเผชิญทั้งจาก การที่จีนเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่ล้วนแล้วแต่อาจส่งผลกระทบต่อ SMEs โดย ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร รองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้แสดงมุมมองที่มีต่อการเข้ามาของจีนว่าการที่จีนเข้ามาลงทุนหรือทำตลาดในไทยแสดงว่าจีนมองเห็นโอกาสและศักยภาพของประเทศซึ่งแทนที่จะกลัวหรือต่อต้าน แต่ควรคิดว่าจะใช้ประโยชน์หรือมองหาโอกาสจากการเข้ามาของจีนอย่างไร และมองหาช่องว่างทางการตลาดจากสิ่งที่จีนยังไม่เชี่ยวชาญหรือยังทำไม่ได้ เช่น ธุรกิจบริการต่างๆ ซึ่ง SMEs สามารถใช้เป็นจุดแข็งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้

ในทางกลับกัน การเข้ามาของจีนยังแสดงให้เห็นว่าไทยเองก็สามารถไปทำตลาดในต่างประเทศได้เช่นกัน และโดยเฉพาะในยุคที่มีเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับอย่างทุกวันนี้ ยิ่งทำให้การส่งของไปขายต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยาก อีกทั้งปัจจุบัน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee และ Lazada ยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยส่งสินค้าไปขายต่างประเทศได้แล้ว ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสที่ SMEs ไทยควรมองไปไกลกว่าแค่ตลาดในประเทศ

ดร.อุดมธิปก ได้ให้แนวคิดเพิ่มเติมว่า “ในยุคดิจิทัลนี้ เครื่องมือดิจิทัลอย่างอีคอมเมิร์ซและ AI เป็นเครื่องมือที่ทําให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถแข่งกันธุรกิจรายใหญ่ได้อย่างทัดเทียม ความได้เปรียบ เสียเปรียบ ลดน้อยลงไปมาก แต่ในเมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงเครื่องมือเหล่านี้ได้เหมือนกันหมด อะไรคือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจ ของเราแตกต่าง? คำตอบคือ “ตรรกะ” และ “วิธีคิด” ที่จะนำเครื่องมือเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ การมีไอเดียที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยสร้างธุรกิจที่แตกต่างและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้”

สำหรับประเด็น SMEs จะรับมือและอยู่รอดอย่างไรในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นั้น ทุกวิกฤตมีโอกาส เราต้องมองให้เห็น เศรษฐกิจมหภาคเราจำเป็นต้องรู้ไว้เพื่อให้เห็นภาพรวมว่ากำลังไปในทิศทางไหน แต่ในเชิง SMEs เราโฟกัสแค่ที่ตัวเราให้ชัด หันกลับมามองที่ธุรกิจของเราก่อนว่า เราทำธุรกิจอะไร และธุรกิจของเรายังสามารถสร้างประโยชน์และมอบคุณค่าให้ลูกค้าได้ดีอยู่หรือไม่ หากเรายังทำได้ พร้อมทั้งมีทางเลือกที่คุ้มค่าและนำเสนอให้ลูกค้าก่อนที่เขาจะร้องขอ แน่นอนว่าจะต้องมีลูกค้าที่พร้อม จะจ่ายเงินให้เรา ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักควบคุมต้นทุน บริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ไม่สร้างหนี้เกิน ความจำเป็นหรือใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยตรง เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถอยู่ได้แบบไม่กระทบ

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles