นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดคอนโดมิเนียมใหม่ในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ มีการเปิดตัวจำนวนรวม 3,288 ยูนิต ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 15 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ปัจจัยลบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ข้อจำกัดในการกู้ยืมสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ทำให้ช่วงปี 2566 ผู้พัฒนาโครงการมีการชะลอตัวช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 โดยหันไปทำตลาดบ้านแนวราบราคาแพงมากขึ้นท่ามกลางการแข่งขันสูง
ถึงแม้ว่าเมื่อเข้าไตรมาสที่ 4 ปีผ่านมา ผู้พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมพยายามที่จะเปิดโครงการใหม่ในช่วงไตรมาส 4 แต่จำนวนห้องชุดจากโครงการใหม่ที่ออกมามีเพียง 31,000 ยูนิต ยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่จำนวน 40,000 ยูนิต ในไตรมาส 1 ปี 2567 สภาพตลาดคอนโดมิเนียมยังไม่ดีขึ้น ประกอบกับไม่มีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐ ท่ามกลางปัจจัยทางฝั่งผู้ซื้อ ได้แก่ หนี้ครัวเรือน ดอกเบี้ย ส่งผลมาถึงต้นทุนของผู้ประกอบการด้วย
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้พัฒนาโครงการรายใหญ่หันไปลงทุนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในหัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต พัทยา หัวหิน ที่มีกำลังซื้อจากต่างชาติเข้ามารองรับจากแรงหนุนปัญหาขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ทำให้ชาวต่างชาติมองหาบ้านหลังที่สองและไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม แม้ล่าสุดกระทรวงการคลังออกจะออก 5 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ อาทิ ลดค่าโอน ค่าจดจำนอง เหลือ 0.01% ซึ่งขยายสิทธิให้ราคาบ้านไม่เกิน 7 ล้านบาท และให้สิทธิลดหย่อนภาษีคนสร้างบ้านสูงสุด 1 แสนบาท ช่วยกระตุ้นดีมานด์ แต่ในระยะสั้นอาจยังไม่เห็นผลชัดเจนมากนัก ในครึ่งปีแรกนี้ เจ้าของโครงการจึงเข้าสู่การชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ขยับไปเปิดในครึ่งปีหลังแทน
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มจำนวนยูนิตของคอนโดมิเนียมในปี 2567 จะปรับตัวดีขึ้นการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งปี 25,000-30,000 ยูนิต ใกล้เคียงปี 2566 สำหรับทำเลนั้น ผู้ประกอบการเลือกที่จะเปิดขายในใจกลางย่านธุรกิจ คิดถึง 49% ต่อมาเป็นโซนเหนือของกรุงเทพฯ 27% ถัดมาเป็นพื้นที่เมืองชั้นนอกฝั่งตะวันตก 11% ตามมาด้วยพื้นที่เมืองชั้นนอกฝั่งตะวันออก 10% และโซนตะวันออก 3%
ทั้งนี้ อัตราการปฏิเสธสินเชื่อกู้ซื้อคอนโดมิเนียมพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกลุ่มราคาต่อยูนิตต่ำกว่า 3 ล้านบาท ตัวเลขปฏิเสธสินเชื่อสูง 60-70%