สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยการดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย ได้แก่ นางเพ็ญประภา ศิริสรรพ์ นางสาวสาธิดา ศิริสรรพ์ และ นายสุรพล อ้นสุวรรณ กรณีขายหุ้นบมจ. สหกลอิควิปเมนท์ (SQ) โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน และกรณีช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการขายหุ้น SQ แก่บุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 3,954,801 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารกับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย
ก.ล.ต.ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) พบบุคคลที่กระทำการเข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับการขายหุ้น SQ โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลขาดทุนจากการดำเนินงานของ SQ ในไตรมาส 3 ปี 2562 ซึ่งขาดทุนสุทธิเป็นจำนวน 266.30 ล้านบาท โดยเป็นการขาดทุนมากที่สุดตั้งแต่ SQ ได้นำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 เนื่องจากรายได้จากการให้บริการลดลง และต้นทุนการให้บริการสูงขึ้น
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ ก.ล.ต. พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 นางเพ็ญประภา ซึ่งเป็นภรรยาของผู้บริหารและกรรมการของ SQ และในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายพัฒนาองค์กรและบุคลากรที่ SQ จึงเข้าข่ายเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในดังกล่าว ได้ขายหุ้น SQ ของตนรวมจำนวน 3,853,600 หุ้น ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางสาวสาธิดาซึ่งเป็นบุตรสาว โดยนางสาวสาธิดาได้ให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกโดยยินยอมให้นางเพ็ญประภาใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ขายหุ้น SQ รวมทั้งพบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 7 – 8 พฤศจิกายน 2562 นายสุรพล ซึ่งเป็นเลขานุการบริษัทและผู้อำนวยการฝ่ายงบประมาณจัดหาเงินทุนของ SQ จึงเข้าข่ายเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในดังกล่าว ได้ขายหุ้น SQ รวมจำนวน 39,000 หุ้น ในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตน ดังนั้น การกระทำดังกล่าวเป็นผลให้นางเพ็ญประภาและนายสุรพลสามารถหลีกเลี่ยงผลขาดทุนจากราคาหุ้น SQ ที่ลดลงภายหลังที่ SQ เปิดเผยข้อมูลภายในเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาส 3 ปี 2562 ที่มีผลขาดทุนสุทธิต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 เวลา 8.10 น.
การกระทำของนางเพ็ญประภา เป็นความผิดตามมาตรา 242 (1) ประกอบมาตรา 244(5) ส่วนการกระทำของนางสาวสาธิดาเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 242(1) และการกระทำของนายสุรพลเป็นความผิดตามมาตรา 242(1) ประกอบมาตรา 243(2) ซึ่งบุคคลทั้งสามรายมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 วรรคหนึ่ง และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559
คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ กับผู้กระทำความผิดทั้ง 3 ราย ดังกล่าว โดยกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้แก่ ค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ ชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่
ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ ดังนี้
(1) ให้นางเพ็ญประภา ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,423,419 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 12 เดือน
(2) ให้นางสาวสาธิดา ชำระค่าปรับทางแพ่ง และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 760,714 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร เป็นเวลา 8 เดือน
(3) ให้นายสุรพล ชำระค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินในจำนวนเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับ และชดใช้ค่าใช้จ่ายของ ก.ล.ต. เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 770,668 บาท และกำหนดมาตรการห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
การกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารดังกล่าวข้างต้นจะมีผลนับตั้งแต่วันที่ผู้กระทำความผิดลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอม ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งในอัตราที่อัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติโดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่ ค.ม.พ. กำหนด
ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิดเป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง