สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษกรรมการ อดีตกรรมการและผู้บริหาร บมจ.ณุศาศิริ (NUSA) และพวกรวม 6 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีธุรกรรมการเข้าลงทุนซื้อโรงแรมที่ต่างประเทศในราคาไม่สมเหตุสมผลอย่างมีนัยสำคัญ ธุรกรรมการขายห้องชุดของ NUSA ในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมิน รวมทั้งการผ่องถ่ายเงินจาก NUSA เข้าบัญชีส่วนตัวและบุคคลใกล้ชิด และกรณีการแสดงเอกสารและข้อมูลเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และ/หรือ ก.ล.ต. และผู้สอบบัญชี พร้อมกันนี้ได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
โดยก.ล.ต. ได้รับเรื่องร้องเรียนในปี 66 จึงได้ทำการตรวจสอบรวมทั้งประสานกับ DSI และพบพยานหลักฐานที่แสดงได้ว่า ในช่วงปี 63 กรรมการและผู้บริหาร NUSA รวม 4 ราย ได้แก่ (1) นางศิริญา เทพเจริญ (2) นายวิษณุ เทพเจริญ (3) นายสมพิจิตร ชัยชนะจารักษ์ และ (4) นายนนทวัชร์ ธนสุวิวัฒน์ ได้ร่วมกันกระทำการโดยทุจริตลงทุนซื้อโรงแรม Panacee Grand Hotel Roemerbad ที่ประเทศเยอรมนี (Panacee) ในราคาที่สูงกว่าราคาประเมินที่ประเมินด้วยวิธีเปรียบเทียบราคาตลาด (Market approach) อย่างไม่สมเหตุสมผล และร่วมกันกระทำการโดยทุจริตขายห้องชุดซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ของ NUSA ในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมิน รวมทั้งผ่องถ่ายเงินออกจาก NUSA เข้าบัญชีส่วนตัวและบุคคลใกล้ชิด อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น จนทำให้ NUSA ได้รับความเสียหาย โดยมี (5) นางสาววรินภร จันทรโรจน์วานิช ซึ่งเป็นผู้ขายโรงแรม Panacee และ (6) นางโฉมสุดา รุ่งเรืองเนาวรัตน์ กรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทผู้ซื้อห้องชุดจาก NUSA เป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือการกระทำความผิดของบุคคลตาม (1) – (4)
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า เงินมัดจำค่าซื้อโรงแรมข้างต้นที่ NUSA ชำระให้แก่นางสาววรินภร ผู้ขายโรงแรม ไม่ได้ถูกนำเข้าบัญชีของผู้ขาย แต่กลุ่มกรรมการและผู้บริหาร NUSA ได้แก่ นางศิริญา นายวิษณุ และนายนนทวัชร์ รวมถึงบุคคลใกล้ชิดเป็นผู้ได้รับประโยชน์ของเงินขายโรงแรมดังกล่าว
นอกจากนี้ ในชั้นการทำคำชี้แจงต่อ ก.ล.ต. ในกรณีข้างต้น กรรมการและผู้บริหารของ NUSA ในขณะกระทำผิดทั้ง 4 ราย ได้นำส่งพยานหลักฐานเอกสารและข้อมูลอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.ล.ต. โดยได้นำส่งรายงานของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเป็นเท็จ เพื่อลวงไม่ให้ ก.ล.ต. ทราบมูลค่าที่แท้จริงตามบัญชีของโรงแรมดังกล่าว อีกทั้งยังพบว่า ได้ทำการตกแต่งบัญชีเพื่อลวงผู้สอบบัญชีของบริษัทให้เชื่อว่า NUSA ได้รับชำระหนี้ค่าห้องชุดครบถ้วนจากบริษัทผู้ซื้อแล้ว เพื่อไม่ให้ผู้สอบบัญชีมีข้อสงสัยในการบันทึกบัญชีของธุรกรรมข้างต้น
การกระทำของกรรมการ NUSA กับพวกรวม 6 รายข้างต้น กรณีร่วมกันทุจริตในการเข้าซื้อโรงแรมที่ประเทศเยอรมนีและกรณีร่วมกันทุจริตการขายห้องชุดของ NUSA ในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมิน รวมทั้งผ่องถ่ายเงินออกจาก NUSA เข้าบัญชีส่วนตัวและบุคคลใกล้ชิดดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 มาตรา 89/24 มาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 มาตรา 312 มาตรา 313 และมาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) และมาตรา 83 หรือมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี นอกจากนี้ กรณีการแสดงเอกสารและข้อมูลเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ก.ล.ต. และการลวงผู้สอบบัญชี เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรามาตรา 302 มาตรา 302/1 และมาตรา 312 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 6 ราย ต่อ DSI เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้นต่อ ปปง. ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอีกด้วย
ทั้งนี้ การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจและไม่สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี นับตั้งแต่วันที่ ก.ล.ต. มีหนังสือกล่าวโทษบุคคลดังกล่าวต่อ DSI
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อไป และจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในกระบวนการภายหลัง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษแล้ว