นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และโฆษก ก.ล.ต.พร้อมด้วยนางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลและธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีพัฒนาการและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก.ล.ต. จึงต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการระดมทุนโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี สนับสนุนการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทยให้มีคุณภาพ มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายไทย พร้อมทั้งส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
โดยในเดือนสิงหาคม 2567 ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติมอีก 4 เรื่องสำคัญ ทั้งด้านการสนับสนุนนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล และการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่
1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์พร้อมใช้ (Utility Token พร้อมใช้) ทั้งการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลในตลาดแรกและการกำกับดูแลตลาดรอง เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะ ความเสี่ยง และการใช้งาน utility token พร้อมใช้แต่ละประเภท เช่น
- ยกเว้นการขออนุญาตเสนอขาย สำหรับ Utility Token พร้อมใช้ ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือเป็นการรับรอง หรือแทนเอกสารสิทธิใด ๆ (Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 1)
- การบริการเกี่ยวกับ Utility Token กลุ่มที่ 1 ไม่ว่าจะพร้อมใช้หรือไม่พร้อมใช้ ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและไม่ต้องได้รับอนุญาต ทั้งนี้ ห้ามศูนย์ซื้อขาย นายหน้าซื้อขาย และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ให้บริการ (เว้นแต่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดเพิ่มเติมในอนาคต)
- สำหรับ Utility Token พร้อมใช้ ลักษณะอื่นที่นอกเหนือจากกลุ่มที่ 1 (Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2) ที่จะนำไป list ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. และเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และเสนอขายผ่าน ICO portal
- โครงการทดสอบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Regulatory Sandbox) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถทดสอบการให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นประโยชน์และพัฒนานวัตกรรมในตลาดทุนภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. อย่างเหมาะสม โดย ก.ล.ต. สามารถประเมินและติดตามความเสี่ยงเพื่อประโยชน์การวางแนวทางการกำกับดูแลต่อไป โดยผู้สนใจสามารถยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2567 (เป็นโครงการต่อเนื่องไม่มีกำหนดปิด)
3.
การปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านการบริหารกิจการ (governance) ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีกลไกการควบคุมดูแลการบริหารกิจการและการดำเนินงานอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับลักษณะและความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งสามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น เช่น
- กำหนดให้ต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า 5 คน โดยต้องเป็นกรรมการอิสระอย่างน้อย 2 คน และต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเหมาะสม
- กำหนดให้กรรมการ/ผู้บริหารต้องมีประสบการณ์ทำงานด้านสินทรัพย์ดิจิทัลไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือผ่านการอบรมในหลักสูตรที่ ก.ล.ต. กำหนด และต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการกำกับดูแลกิจการที่ดี (หากไม่เคยผ่านการอบรมต้องเข้าอบรมภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ)
- ปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านระบบงานและมาตรฐานในการประกอบธุรกิจให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น จัดให้มีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติงานทุกระบบที่สำคัญ ระบบงานในการติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า รวมถึงการทำความรู้จักตัวตนของลูกค้า (KYC) ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับความเสี่ยง
4.
หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange rules) เพื่อให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกำหนด Exchange rules ที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้มีกลไกคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น - การกำหนด Exchange rules ของศูนย์ซื้อขาย ต้องเป็นไปตามหลักการและมาตรฐานขั้นต่ำที่ ก.ล.ต. กำหนด เช่น หลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล (listing & delisting rules) และต้องเปิดเผย Exchange rules ให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงได้ เช่น เปิดเผยบนเว็บไซต์ทางการของบริษัท ฯลฯ
- การให้ความเห็นชอบ Exchange rules เป็นอำนาจของสำนักงาน ก.ล.ต. (จากเดิมเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ก.ล.ต.) เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. ในการปฏิบัติงานให้สอดรับกับแนวนโยบายที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดนโยบาย
- ก.ล.ต. จะมีการกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับ Exchange rules ภายใต้กรอบที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้หลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบ Exchange rules มีความชัดเจน
ทั้งนี้ทาง ก.ล.ต.ได้สรุปไทม์ไลน์การปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย รวมทั้งการคุ้มครองผู้ลงทุน โดยมีผลบังคับใช้แล้ว 7 เรื่องคือ 1.การเสนอขายโทเคนดิจิทัลกลุ่มความยั่งยืน (Sustainability-Themed Token) 2.การบริหารจัดการโครงการเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือโทเคนดิจิทัล (ICO governance) 3.การโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 4.โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์พร้อมใช้ (Utility Token พร้อมใช้) 5.โครงการ Digital Asset Regulatory Sandbox 6.การบริหารกิจการ (governance) ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 7.การยกระดับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์ของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange rules)
ขณะเดียวกันมีเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 10 เรื่อง คือ 1.การขออนุญาต ICO แบบกลุ่ม (Shelf Filing) 2.หลักเกณฑ์สนับสนุนให้มีผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Custodial Wallet Provider) ในประเทศไทย เพื่อจะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะมีผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่หลากหลากมากขึ้น 3.การขอรับใบอนุญาตเพื่อสนับสนุนให้บริษัทหลักทรัพย์ช่วยขาย Investment Token 4.หลักเกณฑ์ด้านเงินทุนของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดย 4 เรื่องนี้คาดว่าจะออกเกณฑ์ได้ภายในไตรมาส 3-4 ปี 2567 นี้
ส่วนเรื่องที่ 5. แนวปฏิบัติด้านการโฆษณาและส่งเสริมการขายของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 6.แนวปฏิบัติ KYC ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 7.การจัดส่งข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยคาดว่าจะออกเกณฑ์ได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 และเรื่องที่ 8. การปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้ ICO Portal ใช้ outsource ระบบงานได้เพิ่มเติม 9.ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุน Investment Token ในระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ยังไม่แล้วเสร็จ 10.เปิดให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ให้บริการ Utility Token ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการอุปโภคบริโภคบางลักษณะได้ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นและพิจารณา
นายเอนก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเรียกคืนเงินจากผู้กระทำผิดไปแล้วจำนวน 442 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวได้นำส่งกระทรวงการคลัง และผู้กระทำผิดต้องจ่ายเงินชดใช้ให้กับ ก.ล.ต.อีกกว่า 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2560 สามารถเรียกเงินคืนจากผู้กระทำผิดได้รวมกันประมาณ 2,261 ล้านบาท