ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต. ) กล่าวโทษ นายเอกลาภ ยิ้มวิไล อดีตกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งรับผิดชอบในการดําเนินงานของบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด หรือ “Zipmex ประเทศไทย” ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีการทุจริตหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และโดยการหลอกลวงนั้นทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชน รวมทั้งกรณีกระทำหรือยินยอมให้กระทำการลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของ Zipmex ประเทศไทย เพื่อลวงบุคคลใด ๆ ซึ่งเป็นการกระทำการอันเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 82 และมาตรา 88 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567* แล้วนั้น
ก.ล.ต. ขอแจ้งว่า ขณะนี้กรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างกระบวนการบังคับใช้กฎหมายในชั้นของพนักงานสอบสวน ซึ่งมั่นใจว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอ
สำหรับกรณีที่ปรากฏเป็นข่าว ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ผู้เสียหายรายหนึ่งฟ้อง Zipmex ประเทศไทย และ นายเอกลาภ ฐานร่วมกันยักยอกฉ้อโกง และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ก.ล.ต. จะติดตามคำพิพากษาเพื่อศึกษารายละเอียดประกอบการพิจารณา และประสานกับพนักงานสอบสวนต่อไป
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับ Zipmex ประเทศไทย และนายเอกลาภ ดังนี้
วันที่ 31 สิงหาคม 2565 เปรียบเทียบปรับ Zipmex ประเทศไทย กรณีระงับการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและการระงับการให้บริการฝากถอนทรัพย์สิน
วันที่ 7 กันยายน 2565 ก.ล.ต. กล่าวโทษ Zipmex ประเทศไทย และนายเอกลาภ ต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บช.สอท.) กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
วันที่ 21 ธันวาคม 2565 เปรียบเทียบปรับ Zipmex ประเทศไทย กรณีเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจใช้บริการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และนายเอกลาภ กรณีสั่งการ/กระทำการให้บริษัทระงับการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลการระงับการให้บริการฝากถอนทรัพย์สิน
วันที่ 24 เมษายน 2566 เปรียบเทียบปรับ Zipmex ประเทศไทย และนายเอกลาภ กรณีเก็บรักษาทรัพย์สินไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วน ประกอบกิจการอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของ Zipmex ประเทศไทย เนื่องจากมีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้าและโครงสร้างการบริหารจัดการและบุคลากรที่ไม่เหมาะสมและเพียงพอที่จะทำให้การประกอบธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความรับผิดชอบ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องตามการสั่งการของคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดย Zipmex ประเทศไทย ยังคงมีสถานะเป็นบริษัทจำกัดซึ่งมีสิทธิหน้าที่และความรับผิด ตลอดจนอาจถูกฟ้องร้องตามกฎหมายได้