ของดีของเด็ด! พาณิชย์ ขึ้นทะเบียน‘ปลิงทะเลเกาะยาว’ เป็นสินค้าจีไอ สัตว์น้ำเศรษฐกิจจังหวัดพังงา

 นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยว่า กรมมีนโยบายสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง กระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน กรมฯจึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร ผ่านการขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) หรือ สินค้าจีไอ เพื่อคุ้มครองสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า อีกทั้งยังเป็นการควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนปลิงทะเลเกาะยาวเป็นสินค้า GI ลำดับ 4 ของจังหวัดพังงาต่อจากสินค้าทุเรียนสาลิกาพังงา ข้าวไร่ดอกข่าพังงา และมังคุดทิพย์พังงา ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้

ปลิงทะเลเกาะยาว” จะเพาะเลี้ยงในบ่อดินที่มีลักษณะเป็นดินเลนปนทราย โดยมีการทำประตูน้ำหรือต่อท่อน้ำให้น้ำทะเลไหลเข้าออกหมุนเวียนในบ่อได้ พื้นที่เพาะเลี้ยงปลิงทะเลเกาะยาวครอบคลุมพื้นที่อำเภอเกาะยาวที่ตั้งอยู่ในอ่าวพังงา ซึ่งเป็นอ่าวกึ่งปิดเพราะถูกล้อมรอบด้วยแผ่นดิน มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีแนวหญ้าทะเล และแนวปะการังกระจายตัวอยู่ทั่วไป ที่มีความหลากหลายของแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สาหร่าย และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่นๆ เหมาะสมกับการเป็นที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ พื้นที่เพาะเลี้ยงบริเวณเกาะยาวจึงเป็นแหล่งอาศัยที่เหมาะสมและเป็นแหล่งอาหารคุณภาพดี ประกอบกับการเลี้ยงปลิงทะเลรวมกับสัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ ทำให้ปลิงทะเลดูดกินอาหารจากหน้าดินในบ่อ รวมถึงอาหารและของเสียจากการเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากนี้ ปลิงทะเลที่เลี้ยงในบ่อจะอาศัยบริเวณก้นบ่อไม่เคลื่อนไหวร่างกายมากเท่ากับปลิงที่อยู่ในทะเล จึงไม่เกิดภาวะเครียดที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ทำให้ปลิงทะเลเกาะยาวมีขนาดตัวใหญ่ เนื้อแน่น และตัวหนากว่าปลิงทะเลที่เลี้ยงด้วยวิธีอื่นๆ หรือจากแหล่งผลิตอื่น ส่งผลให้ปลิงทะเลเกาะยาวเป็นที่รู้จัก

จนนับได้ว่าปลิงทะเลเกาะยาวเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดพังงาที่นำมาใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภคและเป็นวัตถุดิบในการผลิตยาและอาหารเสริม มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นที่ต้องการของหลายประเทศทั้งแบบสดและแบบแห้ง

ปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ทำให้สินค้าท้องถิ่นได้รับการยกระดับมูลค่าสร้างรายได้สู่ชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของไทยอย่างยั่งยืน

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles