คนไทยกว่า 64% ไม่เสียภาษี เบบี้บูมเมอร์ เจน X เจน Y จบไม่เกินม.6 เมินยื่นเสียภาษีแถมอยู่นอกระบบ

คนไทยกว่า 64% ไม่เสีย ภาษี เบบี้บูมเมอร์ เจน X เจน Y จบไม่เกินม.6 เมินยื่นเสียภาษีแถมอยู่นอกระบบ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยรายงานเรื่องมุมมองการยื่นและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคนไทย พบว่าคนไทยมากกว่า 64.3% ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในปี 2565 ผู้ที่ยื่นแบบฯ มีเพียง 35.7% จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ ประกอบด้วยคนที่เข้าเกณฑ์ต้องยื่นเสียภาษีมากถึง 50.5% และไม่เข้าข่ายต้องยื่นภาษี 13.8% สาเหตุจากเป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือเป็นผู้ว่างงาน/อยู่ระหว่างการศึกษาที่ไม่มีเงินได้

เมื่อพิจารณากลุ่มที่มีการยื่นแบบฯ ในปี 2565 และกลุ่มที่อยู่ในเกณฑ์ต้องยื่นแบบฯ แต่กลับไม่ยื่น พบว่า มีลักษณะที่แตกต่างกัน ได้แก่ กลุ่มที่ยื่นแบบฯ มีอยู่ที่ 60% เป็นกลุ่มคนเจนวาย(Y) และมากกว่าครึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ส่วนใหญ่มีอาชีพที่มีเงินเดือนประจำ ทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนมากที่สุด รองลงมา ทำงานในองค์กรของภาครัฐ ซึ่งกลุ่มนี้มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 27,827 บาทต่อคนต่อเดือน ที่สำคัญ กว่า 80.8% มีสถานะทางการเงินที่รายได้เพียงพอกับรายจ่าย

กลุ่มที่เข้าข่ายอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ แต่ไม่ยื่น พบว่า จะกระจายอยู่ในกลุ่มเจนเอ็กซ์(X อายุ 41-60) กลุ่มเจนวาย(Y อายุ 21-40) และกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ (อายุ 61 ขึ้นไป) ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน โดยส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. และเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานนอกระบบ นอกจากนี้ มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มแรก อยู่ที่ 12,115 บาทต่อคนต่อเดือน ที่สำคัญ มีสถานะการเงินที่ไม่มั่นคง ซึ่งสะท้อนจาก 55.5% มีรายได้เท่ากับรายจ่าย และ 31.3% มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

ด้านความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า คนไทยโดยทั่วไปมีความรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในระดับต่ำ ผู้ที่มีความรู้ระดับต่ำและไม่รู้ข้อมูลเรื่องการเสียภาษีเลย มีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 57.9% ในคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเจนเอ็กซ์(X) และกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์ นอกจากนี้ เกือบ 70% เป็นแรงงานนอกระบบ และประมาณ 80% ของกลุ่มนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ

สำหรับข้อมูลที่กลุ่มนี้รับรู้น้อยมาก เช่น การยื่นแบบฯ รวมของคู่สมรส ภาระทางภาษีเพิ่มเติมหากไม่จ่ายตามกำหนดโทษปรับ หรือจำคุกในกรณีที่ไม่ยื่นแบบฯ เพื่อเลี่ยงภาษี นอกจากนี้ หากพิจารณาระดับความรู้ตามประสบการณ์ในการยื่นแบบฯ พบว่า แม้จะเป็นกลุ่มที่มีการยื่นแบบฯ ในปี 2565 แต่กลับมีความรู้เกี่ยวกับการยื่นแบบฯ ในระดับปานกลางเท่านั้น ขณะที่กลุ่มที่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ แต่ไม่ได้ยื่นมีมากถึง 74.9% มีความรู้ในระดับต่ำหรือไม่รู้เลย ซึ่งในกลุ่มนี้มีข้อมูลที่ไม่ทราบเพิ่มเติมจากกลุ่มก่อนหน้านี้ เช่น กรมสรรพากรเปิดให้ยื่นออนไลน์แม้เลยเวลากำหนด หากไม่ยื่นในเวลาที่กำหนดมีค่าปรับ 2,000 บาท

ที่น่าตกใจ คือ คนไทยบางส่วนไม่รู้ว่าการยื่นแบบฯ และเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย ผลสำรวจ พบว่ากว่า 16.2% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่ทราบว่า การยื่นแบบฯ และเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน 65.6% ไม่ทราบว่าการยื่นแบบฯ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียภาษี ซึ่งสัดส่วนผู้ไม่ทราบจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยหรือมีสถานะทางการเงินที่ไม่ดี

นอกจากนี้ กว่า 53.6% ไม่ทราบว่าหากมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี เมื่อสอบถามถึงประเภทเงินได้ที่ต้องยื่นภาษี พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ารายได้ประเภทใดบ้างที่ต้องนำมายื่น รายได้จากเงินเดือน/ค่าตอบแทนจากงานประจำเป็นรายได้ประเภทเดียวที่คนไทยเกินครึ่งหนึ่งรับรู้ว่าต้องนำมาใช้ในการยื่นแบบฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 63.2% และรองลงมา คือ รายได้จากการรับจ้าง/จากการประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ที่ 39.1%

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles