นางสาวรัญชิตา ศรีวรวิไล ผู้อำนวยการธุรกิจมีเดีย นีลเส็น ประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้จัดทำผลสำรวจเรตติ้งทีวีในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ไม่เพียงมี ทีวีดิจิตอล ของผู้ประกอบการภาคเอกชนจำนวน 15 ช่อง ทีวีสาธารณะของรัฐบาลจำนวน 6 ช่อง แต่ยังมีคอนเทนต์ทางเลือกอีกจำนวนมากในแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น ยูทูบ แชนแนล ซึ่งมีช่องทีวีดิจิทัลอยู่ด้วย ที่สำคัญ ยังมีช่องทีวีไทยอีกกว่า 200 ช่องในระบบดาวเทียมซึ่งอยู่บนแพลทฟอร์มออนไลน์ด้วย นอกจากนี้ ยังมียูทูบเบอร์และอินฟลูเอนเซอร์กว่า 2 ล้านคน ที่ทำช่องรายการเช่นกัน ทั้งหมดเป็นตัวเลือกคอนเทนต์ให้ผู้ชมเลือกดูผ่านมือถือ ที่เข้ามาแย่งเวลาไปจากจอทีวีทั้งสิ้น
คำว่าดูทีวียังมีความหมายและพลังในใจผู้ชมชาวไทย จากผลสำรวจพบว่า ในประเทศไทยซึ่งมีประชากรราว 68 ล้านคนนั้น มี 87% ของประชากรไทย หรือราว 60 ล้านคนที่ดูโทรทัศน์ ซึ่งกลายเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ต เน้นการใช้โซเชียลมีเดียสูงถึง 89% รับชมไลฟ์ทีวี 70% และสตรีมมิ่ง 52% แสดงให้เห็นถึงการบริโภคสื่อหลายแพลตฟอร์มในเวลาเดียวกัน
ด้านนางสาวสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ประชากรไทยในปัจจุบันมีอยู่ราว 70 ล้านคน พบว่า ราว 12% หรือมีประชากรกว่า 9 ล้านคนที่เป็นผู้ผลิตเนื้อหาในแพลทฟอร์มออนไลน์ หรือเรียกว่า Content Creator จำนวนผู้ผลิตเนื้อหาในแพลทฟอร์มออนไลน์ 9 ล้านคน มีทั้งทำงานแบบประจำ และทำงานแบบชั่วคราวด้วย ส่งผลให้มูลค่าตลาดผู้ผลิตเนื้อหาในแพลทฟอร์มออนไลน์ในไทยอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท โดยเฉพาะมีการขยายตัวสูงถึงกว่า 25-30% เทียบจากในปี 2023
ทั้งนี้ หากมองเฉพาะผู้ผลิตเนื้อหาในแพลทฟอร์มออนไลน์ที่ทำงานประจำจะมีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน แนวโน้มที่น่าสนใจในปี 2024 พบว่าผู้ผลิตเนื้อหาในแพลทฟอร์มออนไลน์เปลี่ยนจากการทำงานชั่วคราวมาเป็นงนประจำมากขึ้นทั่วโลก