คนไทยสูงอายุกว่า 75 ปี เพิ่มปีละกว่า 6% เร็วกว่าจำนวนเตียงดูแลคนชราเพิ่มแค่ปีละ 2% ในไทย บ้านพักคนชราในไทยไม่เพียงพอดูแลได้ทั้งหมด มีมากกว่า 750,000 คนต้องการการดูแล

คนไทย ผู้สูงอายุ กว่า 75 ปี เพิ่มปีละกว่า 6% เร็วกว่าจำนวนเตียงดูแลคนชราเพิ่มแค่ปีละ 2% ในไทย บ้านพักคนชราในไทยไม่เพียงพอดูแลได้ทั้งหมด มีมากกว่า 750,000 คนต้องการการดูแล

คลาวด์เนิร์ส (CloudNurse) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันให้บริการระบบการจัดการบ้านพักดูแลคนชรา เปิดเผยว่า จำนวนประชากรไทยที่กลายเป็นผู้สูงอายุ หรือมีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปนั้น จะขยายตัวถึงปีละ 6% ท่ามกลางจำนวนเตียงดูแลผู้สูงอายุในบ้านพักดูแลคนชราในประเทศไทย ที่เพิ่มขึ้นเพียง 2% ต่อปี สะท้อนถึงความเป็นประเทศสังคมผู้สูงอายุที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถรองรับจำนวนประชากรไทยที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งต้องการเข้าพักอาศัยที่เพิ่มขึ้นทุกปีได้อย่างเพียงพอ

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุมากถึงประมาณ 13 ล้านคนจากประชากรทั่วประเทศราว 68 ล้านคน ในจำนวน 13 ล้านคนดังกล่าว พบว่า เป็นประชากรสูงอายุที่มีอายุเกินกว่า 75 ปีขึ้นไปอยู่ประมาณ 5 ล้านคน หรือ 38% ของประชากรสูงอายุทั้งหมดในทุกวันนี้ สถานการณ์ดังกล่าว ยังพบว่า กลุ่มประชากรสูงวัยตั้งแต่อายุ 75 ปีขึ้นไป ไม่เพียงต้องได้รับการดูแลจากบุคคลอื่นๆ แต่ยังต้องการการพึ่งพิงมีมากถึงประมาณ 750,000 คน

สำหรับค่าใช้จ่ายบ้านพักคนชราในประเทศไทยนั้น พบว่า มีราคาสูงขึ้น โดยในแต่ละเดือนจะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 15,000 ถึง 55,000 บาท ขณะที่ลูกหลาน ญาติ รวมถึงผู้สูงอายุเกิน 75 ปีขึ้นไป ที่มีกำลังซื้อใช้จ่ายค่าบ้านพักคนชรามีจำนวนประมาณ 100,000 คน กรณีผู้สูงอายุที่อยู่ในครอบครัวมีฐานะดี หรือสามารถใช้จ่ายได้นั้น อาจจะไม่ไปอยู่บ้านพักดูแลคนชรา แต่จะอยู่ที่บ้านโดยจ้างเจ้าหน้าที่พยาบาล หรือบุคลากรดูแลเฉพาะทางกับผู้สูงอายุมาดูแลที่บ้าน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่วันละกว่า 2,500 บาท

ภาวะบ้านพักดูแลคนชราในประเทศไทย ในปัจจุบันนี้ ไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ เนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปในประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นถึงปีละ 6% ต่อเนื่อง ท่ามกลางจำนวนเตียงที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราในประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้นเพียง 2% ต่อปี จากการสำรวจปรากฏว่า จำนวนบ้านพักดูแลคนชรามีอยู่ราว 2,000-3,000 แห่งในประเทศไทย ซึ่งสามารถรองรับและให้บริการประชากรผู้สูงอายุได้ประมาณ 60,000 คนเท่านั้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรสูงวัยแตะ 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชากรไทยทั้งประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่ประเทศสังคมสูงวัย ที่สำคัญ คาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 2572 หรืออีก 5 ปี สัดส่วนของผู้สูงอายุในประเทศไทยพุ่งเป็น 28% ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้ประเทศไทยจะเข้าสู่ประเทศสังคมสูงวัยระดับสุดยอด หรือ Super-aged Society

ติดตาม BTimes ได้ตามช่องทางข้างล่างนี้
Latest Posts

Related Articles